‘สพฐ.’ ตั้งเป้าอบรมครูสอน Active Learning 100% ชี้ให้เด็กมีสมรรถนะ-ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

‘สพฐ.’ ตั้งเป้าอบรมครูสอน Active Learning 100% ชี้ให้เด็กมีสมรรถนะ-ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยวางแผนการขับเคลื่อนเป็น 2 เฟส ดังนี้ เฟสที่ 1 สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่าภายในเดือนกันยายนนี้ ครูต้องได้รับการอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ครบ 100% ซึ่งที่ผ่านมาตนลงพื้นที่ ร่วมกับคณะทำงาน ONE TEAM ประกอบด้วย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) , สำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) , สำนักบริหารความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) , สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และ หน่วยศึกษานิเทศก์ ไปตรวจโรงเรียนหลายจังหวัด พบว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 81 แห่ง ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการอบรมครูครบเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งขับเคลื่อนต่อไปให้ครบทั่วประเทศต่อไป

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการ กพฐ. เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงายขับเคลื่อน Active Learning พร้อมกับมอบหมายให้ตนขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ Active Learning เกิดแรงกระเพื่อมทั้งประเทศ นอกจากจะขับเคลื่อน Active Learning แล้ว ตนจะขับเคลื่อนให้ครูจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดสมรรถนะ หรือ Ultimate Outcome และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ด้วย จากการลงพื้นที่ ตนพบว่าบางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไปแล้ว แต่โรงเรียนไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่คือ Active Learning ดังนั้น จะเห็นว่า โรงเรียนบางแห่งไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกๆวิชา สามารถสร้างและกระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิดได้

“ส่วนการดำเนินการเฟสที่ 2 ระดับพื้นที่ ต้องผลักดันการจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรก Active Learning เข้าไปในห้องเรียนโดยตรง ทั้งนี้ครูต้องวางแผนบูรณาการการจัดการเรียนการสอนร่วมกันด้วย เพราะ สพฐ. เชื่อว่า การที่เด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ สร้างองค์ความรู้ของตนเองได้ จะต้องมีเวลา และการที่เด็กจะสามารถมีเวลาได้นั้น ทุกวิชาต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อวางแผนตัดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน โดยให้รวบตัวชี้วัดเข้าไว้ด้วยกัน และสอนเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนไม่ต้องเรียนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน และเด็กสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีกับนักเรียน คือ นักเรียนจะมีการบ้านน้อยลง ทำให้เด็กมีเวลาคิด มีเวลาสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดความรู้และทักษะของตนเองได้ หากขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสคิด มีสมรรถนะ และมีทักษะต่อยอดความรู้ต่อไปได้” นางเกศทิพย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image