นักคติชนวิทยาเผย หมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อดั้งเดิมอุษาคเนย์ เชื่อถูกฆ่าให้ ‘นำทาง’สู่โลกหน้า

โครงกระดูกสุนัขที่หลุมขุดค้นภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ภาพเล็ก-รศ.ดร. ปฐม หงส์สุวรรณ ผอ. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ม.มหาสารคาม ผู้เขียนบทความเรื่อง บทบาทของ “หมา” ในตำนานและพิธีกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ )

คืบหน้ากรณีพบโครงกระดูกสุนัขอายุราว 2,000 ปีที่หลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. รศ.ดร. ปฐม หงส์สุวรรณ ผอ. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ม.มหาสารคาม  ผู้เขียนบทความเรื่อง บทบาทของ “หมา” ในตำนานและพิธีกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ วารสารอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2549 กล่าวว่า ในเชิงวัฒนธรรม สุนัขเป็นสัตว์ที่มีบทบาทต่อมนุษย์ ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงธรรมดา แต่สะท้อนความคิด จิตวิญญาณ และสามารถบ่งบอกถึงระบบความเชื่อศาสนาดั้งเดิม ดังนั้นนักโบราณคดีควรนำข้อมูลด้านคติชนวิทยามาประกอบการศึกษาเชื่อมโยง ซึ่งจะทำให้มองเห็นในเชิงลึกยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถหลีกหนีเรื่องเล่า ความเชื่อ และคติชนได้ สำหรับโครงกระดูกสุนัขที่ศรีเทพ ตนมองว่า อาจฝังร่วมกับศพเพื่อนำทางสู่โลกหน้า เนื่องจากชาติพันธุ์ดั้งเดิมหลายกลุ่มในแถบนี้เชื่อว่า สุนัขเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ ดังปรากฏในตำนานและนิทานหลายเรื่อง

“ในเชิงวัฒนธรรม หมาผูกพันกับมนุษย์มานาน โดยถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์  เป็นผู้รู้ สามารถเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าในความเชื่อดั้งเดิม กรณีของการพบโครงกระดูกหมาฝังร่วมกับศพ จึงเป็นไปได้ว่าไม่ได้ฆ่าเพื่อทารุณ แต่ฆ่าเพื่อให้ช่วยนำทางไปสู่ภพภูมิที่ดี นอกจากนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลูกดก กลุ่มคนมอญและเขมร เชื่อว่าหมานำพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้มนุษย์  ราชสำนักล้านนา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะขึ้นครองราชย์ ต้องให้ลัวะ จูงหมานำหน้าขบวนเดินเข้าประตูเมืองเชียงใหม่ สะท้อนถึงความสำคัญของหมากับกลุ่มชนดั้งเดิม ปรากฏนิทานที่เกี่ยวกับหมาหลายเรื่อง เช่น เรื่องหมาเก้าหาง ในไทลื้อ12ปันนา, หมาขนคำ ของล้านนา, หมานำไฟมาให้มนุษย์ ของเผ่ากะตู-กะเรียงในลาว นักโบราณคดี เช่น ศ .ศรีศักร วัลลิโภดทม พยายามฝช้ข้อมูล ตำนาน เช่นกัน ย่างข้อมูลในแถบนี้หลีกหนีเรื่องเล่า ความเชื่อ คติชนไม่ได้ คนไตหลายกลุ่มเชื่อว่า ในยุคที่โลกยังมีมนุษย์อยู่น้อย หมาเป็นสัตว์กลุ่มแรก” รศ.ดร. ปฐมกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image