‘สุภัทร’ ห่วงแก้คำสั่งคสช.กระทบแผนการศึกษาจังหวัด แนะ.ให้อำนาจศธจ.ดูโยกย้ายภาพรวม

‘สุภัทร’ ห่วงแก้คำสั่งคสช.กระทบแผนการศึกษาจังหวัด แนะให้อำนาจศธจ.ดูโยกย้ายภาพรวม

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม นายสุภัทร  จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า  ตามที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีสาระสำคัญคือ ให้อำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. ) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ในเขตพื้นที่ฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุฯ นั้น ภาพรวมต้องรอความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน ทั้งนี้เชื่อว่า การแก้ไขคำสั่งคสช. จะไม่กระทบกับการทำงานในส่วนภูมิภาค เพราะแก้เฉพาะในส่วนการคืนอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายจากเดิมให้กศจ. 77 จังหวัดดำเนินการ มาเป็นให้สพม. และสพป. รวม 245 เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการเช่นเดิม

นายสุภัทร กล่าว ส่วนตัวมองว่า การโยกอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายให้ 245 เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการ อาจจะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย โดยเฉพาะย้ายข้ามเขตหรือย้ายข้ามจังหวัด เพราะไม่สามารถบริหารภาพรวมของทั้งจังหวัดได้ ซึ่งเดิมการแต่งตั้งโยกย้าย ทางเขตพื้นที่ฯ ทั้งสพม. และสพป.จะจัดทำรายละเอียด หารือกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เพื่อดูภาพรวมทั้งจังหวัด ก่อนเสนอให้คณะกรรมกศจ. พิจารณา ดังนั้นหากแก้ตามที่สภาฯ เสนอ เขตพื้นที่ฯ ยังคงดำเนินการในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเช่นเดิม แต่ตัดงานในส่วนของศธจ.และกศจ.ออกไปช่วงหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาจังหวัดในบางเรื่อง ตรงนี้เป็นจิ๊กซอที่ต้องมีคำตอบว่าจะทำอย่างไร

“การแก้ปัญหานี้ สามารถทำได้ โดยเพิ่มงานดูภาพรวมการแต่ตั้งโยกย้ายให้ศธจ. เท่ากับว่า เขตพื้นที่ฯ ยังคงทำงานเท่าเดิม มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ศธจ.อาจมีงานมากขึ้นเพราะต้องประสานกับแต่ละเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินเนินภาพรวมของทั้งจังหวัด ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่แต่ครั้งนี้เป็นการขอความร่วมมือ ช่วยเป็นตัวตรวจสอบ สอบทานโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้ไม่เกิดการทุจริต แต่หากไม่ดำเนินการตามนี้งานของศธจ. และกศจ. งานจะน้อยลง เหลือเพียงงานวางแผนและการติดตามงาน ขณะที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ทำหน้าที่กำกับการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว จึงไม่กระทบอะไร  ทั้งหมดอยู่ที่การวางแผน ซึ่งในส่วนของศธ. ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะต้องรอให้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาฯ ก่อน” ปลัดศธ. กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image