ขึ้นอุดหนุน 4 ปี เท่ากับเรียนฟรีทิพย์ ลดเดือดร้อนแค่ 20% ‘สมพงษ์’ ชี้ ‘รัฐบาล’ แค่หาเสียงก่อนหมดวาระ

ขึ้นอุดหนุน 4 ปี เท่ากับเรียนฟรีทิพย์ ลดเดือดร้อนแค่ 20%-พ่อแม่แบกภาระ 80% ‘สมพงษ์’ ชี้ ‘รัฐบาล’ แค่หาเสียงก่อนหมดวาระ

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถม ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2566-2569 รวมกว่า 8 พันล้านบาท ว่า ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ช่วยเหลือโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเฉพาะนักเรียนโรงเรียนเอกชนกว่า 2 ล้านคน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ทำให้โรงเรียนมีเงินจัดกิจกรรมที่มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศต่อไป

“ขอฝากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ช่วยผลักดันเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วย เพราะขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กลำบากมาก เนื่องจากต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนหัวละ 21 บาทเท่าเดิม” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนนั้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ 20% เท่านั้น อีก 80% ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรียนฟรี 15 ปี ไม่มีอยู่จริง เป็นการเรียนฟรีทิพย์ และการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งนี้ ถือเป็นการซ่อมผลงานทางการเมืองของรัฐบาล เพราะจะเห็นว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีผลงานด้านการศึกษาออกมาเลย เมื่อใกล้จะหมดวาระ จึงผลักดันเรื่องนี้ ดังนั้น น.ส.ตรีนุช จึงประสบความสำเร็จที่สามารถสร้างผลงานที่เป็นไฮไลต์ได้ เชื่อว่าผลงานนี้จะถูกนำไปใช้หาเสียงทางการเมือง

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า แต่ถ้ามองในภาพรวม การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวเป็นเรื่องดี แต่ในความจริงแล้ว เป็นการเพิ่มเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษา การเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นการบรรเทาภาระของผู้ปกครองได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ โดยเฉพาะความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันมีคนยากจนเพิ่มมากขึ้นเกือบ 20% ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะความยากจนกับความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงอยู่ รัฐควรจะเปลี่ยนมุมมองในการให้สวัสดิการประชาชนใหม่ จากที่ผ่านมาให้สวัสดิการถ้วนหน้าที่เน้นแจก มาให้สวัสดิการโดยเน้นเฉพาะกลุ่ม และคนที่มีปัญหาเร่งด่วน เช่น ให้สวัสดิการเด็กที่ออกจากระบบการศึกษากลางคันก่อน เป็นต้น

Advertisement

“การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัว จะปรับเพิ่ม 2 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน คือ ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบ 2.ค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในระบบ และนอกระบบ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่มีคำถามว่าการเพิ่มเงินให้สถานศึกษา จะทำให้ผู้เรียนมีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น มีการเรียนแบบ Active Learning และสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน มองว่านอกจากจะปฏิรูปโครงสร้าง และตัวระบบแล้ว ต้องมีนวัตกรรมใหม่ ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ศึกษามากว่า 3 ปี พบว่า การปฏิรูประบบการเงิน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปฏิรูปการศึกษาได้ ดังนั้น นอกจากเปลี่ยนโครงสร้าง และตัวระบบแล้ว ควรปฏิรูประบบการเงินด้วย ซึ่งจะแก้ไขปัญหาการศึกษาแบบเที่ยงธรรม และลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ถ้ารัฐยังใช้ระบบการจ่ายเงินแบบเดิม คือ ใช้ระบบงบประมาณประจำปี จะทำให้การศึกษาติดอยู่กับระบบราชการ และท้ายสุดการศึกษาจะไม่พัฒนาได้มากพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image