ชัชชาติ คุยกูเกิล ทดลอง ‘ห้องเรียนดิจิทัล’ ยันไม่ใช่แค่แจกแท็บเล็ต ชี้อาวุธสู้เหลื่อมล้ำคือการศึกษา

ชัชชาติ คุยกูเกิล ทดลองห้องเรียนดิจิทัล ยันไม่ใช่แค่แจกแท็บเล็ต ชี้อาวุธสู้เหลื่อมล้ำคือการศึกษา

เมื่อเวลา 16.10 น. วันที่ 2 สิงหาคม ที่ห้องประชุมชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) เพื่อหารือความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการศึกษา

นายชัชชาติกล่าวว่า ทางกูเกิลทำวิจัยร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการเอาเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในห้องแล้ว ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทาง กทม.มีความสนใจเหมือนกัน

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน เป็นหนึ่งในนโยบายอยู่แล้ว ทั้ง 3 มิติ คือ 1.เพิ่มการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นผ่านระบบออนไลน์ 2.ลดภาระของครู 3.ประมวลผลของโรงเรียนได้ดีขึ้น เมื่อโรงเรียนอยู่บนดิจอทัลแพลตฟอร์ม สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า โครงการที่จะทำร่วมกันคือ “ห้องเรียนต้นแบบ” ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีการให้แท็บเล็ต ระบบการเรียนออนไลน์ ใช้ระบบคลาวด์แชร์ข้อมูลร่วมกัน ร่วมทั้งทำวิจัยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย โดยเลือกโรงเรียนระดับประถม ป.2-ป.4 ที่มีผลการเรียนระดับปานกลาง เพื่อให้เห็นพัฒนาการถึงช่วง ป.6 ได้ ซึ่งถ้าประสบผลสำเร็จ จะมีการขยายไปยังห้องเรียนอื่นๆ ได้ พร้อมกับการมีฐานข้อมูล เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่างๆ

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า หัวใจการศึกษาไม่ได้มีเรื่องเดียว การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาคือสิ่งที่เราเตรียมให้เด็ก สุดท้ายเด็กก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย โรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่เตรียมหลักสูตรอย่างเดียว ต้องเตรียมระบบนิเวศที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ การปรับปรุงโรงเรียนสังกัด กทม.ให้มีคุณภาพมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีโรงเรียนคุณภาพดีอยู่ใกล้บ้าน สำหรับโครงการนำร่องจะมีการทดลองในระยะเวลา 6 เดือน

อาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ คือการศึกษา ถ้ารุ่นลูกสามารถมีความรู้ มีการงานที่ดีขึ้นได้ สุดท้ายในหนึ่งชีวิตก็จะลดหรือหลุดจากความเหลื่อมล้ำได้ การศึกษาเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ ผลที่ได้มันมหาศาล เป็นสิ่งที่เราต้องทุ่มเท” นายชัชชาติระบุ

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเปิดโรงเรียนในช่วงวันหยุด เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ การให้ประสบการณ์ต่างๆ นอกเหนือจากวิชาหลัก จากภาคเอกชน อาสาสมัคร เป็นการขยายโอกาสให้เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้น

เมื่อถามว่า เป็นเพียงแค่แจกแท็บเล็ตอย่างเดียวหรือไม่ ?

นายชัชชาติกล่าวว่า เครื่องมือไม่ใช่หัวใจ เครื่องมือไม่สามารถหาคำตอบให้เราได้ คนที่หาคำตอบคือคน เครื่องมือเป็นเครื่องช่วยเฉยๆ แท็บเล็ตไม่ได้เป็นคำตอบของการศึกษา เป็นเพียงตัวช่วย ไม่ใช่ว่ามีแท็บเล็ตแล้วจะดีขึ้น แต่ต้องมีระบบนิเวศที่พร้อม

“ข้อดีของดิจิทัลคือ เมื่อทำสำเร็จหนึ่งห้องเรียน จะสามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับทราฟฟี่ฟองดูว์ สร้างการเปลี่ยนแปลงพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน นายศานนท์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ได้ทำระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในโรงเรียน เช่น ระบบไวไฟ (Wi-fi) พร้อมกับเตรียมระบบนิเวศทางด้านซอฟแวร์ต่างๆ อีกทั้ง ตอนนี้ได้ทำเรื่องการลดภาระครู ทั้งงานธุรการ เตรียมหลักสูตร การฝึกอบรมควบคู่กับนักเรียน

“ตอนนี้เราทำเรื่อง Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) อยู่ เช่น เรื่องไวไฟ (wifi) โรงเรียน โดยเรื่องไวไฟก็เป็นส่วนหนึ่ง เราอยากให้มีเรื่องดิจิทัลเข้ามา เราจึงต้องเตรียมระบบนิเวศ อาทิ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของคุณครู ซึ่งเรามุ่งเน้นการลดภาระครู หากมีดิจิทัลเข้ามาก็จะช่วยได้เยอะ ทั้งงานด้านธุรการ การเก็บเอกสารหลักสูตรต่าง ๆ และการ training ของครูด้วย เพราะการจะนำระบบมาใช้ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนต้องเรียนรู้ แต่คุณครูจะต้องเรียนรู้พร้อมกันด้วย ต้องทำไปควบคู่กัน” นายศานนท์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image