รายงานการศึกษา : ตามไปดู..แปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะ

รายงานการศึกษา : ตามไปดู..แปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะ

แปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ “หอมขจรฟาร์ม” โครงการบนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแนวใหม่ ที่นำองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในชุมชน เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของสุพรรณบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถมาพักผ่อนได้อีกด้วย

โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ร่วมมือกับ จ.สุพรรณบุรี และหน่วยงานภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งให้ความรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกร ผู้ที่สนใจ และนักเรียน นักศึกษา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นายเฉลิมชัย แสงอรุณ ผู้อำนวยการกองอาคารสิ่งแวดล้อม มสด.วิทยาเขตสุพรรณบุรี เล่าว่า ที่มาของชื่อโครงการ มาจากดอกขจร ซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำ มสด.โดยพื้นที่ของหอมขจรฟาร์ม แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ “โรงเรือนอัจฉริยะ” พื้นที่วิจัยทั้งต้นแบบโรงเรือนอัจฉริยะ แบบกึ่งอัจฉริยะ แบบปกติทั่วไป และโรงเรือนขนาดเล็กสำหรับบริการวิชาการแก่ชุมชน “สวนหอมขจร” พื้นที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำการเกษตร โดยเน้นพืชผักสวนครัว และไม้ผลต่างๆ “หอมขจรคอสเมติก” นำผลผลิตทางการเกษตร มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกรดพรีเมียมทั้งหมด

และ “แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช” จำพวกไม้หายาก เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป โดยร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมกว่า 20 ชนิด และเตรียมจดทะเบียนเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายแกนกลางของภาคกลางในการอบรมเรื่องการเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจร นอกจากนี้ ยังนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหาร

Advertisement

ขณะที่ นายธนากร บุญกล่ำ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเมลอนว่า ควบคุมด้วยระบบ IoT และได้รับมาตรฐาน GAP เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเมลอนเกรดพรีเมียม นอกจากนี้ ยังมีว่านหางจระเข้ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากปลูกได้ในทุกสภาพดิน และนำสารสกัดสำคัญไปเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้ง เลมอนพันธุ์ฮาวายที่ปลูกในบ่อซีเมนต์ เพื่อควบคุมการตัดแต่งทรงต้น ง่ายต่อการจัดการ และเก็บเกี่ยว โดยใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์ ทำให้ใช้น้ำไม่มากในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ โครงการแปลงสาธิตเกษตรฯ ต้องการยกระดับสินค้าการเกษตรของ จ.สุพรรณบุรี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตรมูลค่าสูง โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคีหลากหลายด้าน ทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย

Advertisement

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image