เกณฑ์ย้ายครูใหม่กระทบ ร.ร.เล็ก เชื่อแม่พิมพ์แห่ย้ายเข้าเมือง นักวิชาการอัดใช้ ‘การเมือง’ นำ หวังหาเสียง

เกณฑ์ย้ายครูใหม่กระทบ ร.ร.เล็ก เชื่อแม่พิมพ์แห่ย้ายเข้าเมือง-ซ้ำเติมปัญหา นักวิชาการอัดใช้ ‘การเมือง’ นำ หวังหาเสียง

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยกรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดให้การย้ายกรณีปกติ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อม และพัฒนาอย่างเข้ม และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว สามารถยื่นคำร้องได้เลย โดยไม่ต้องรอ 4 ปี ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้าย โดยสามารถยื่นคำร้อง 2 ครั้ง ว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ย้ายครูจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี จะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กอย่างแน่นอน เพราะการเป็นครูโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องรับผิดชอบงานจำนวนมาก ตั้งแต่รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนหลายระดับชั้น ไปจนถึงต้องรับผิดชอบหน้าที่อื่นๆ เช่น อาหารกลางวัน ทำหน้าที่ธุรการ ขายของสหกรณ์โรงเรียน เป็นต้น

“ด้วยระบบของการทำงานในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความยุ่งยาก ครูอยากย้ายออกไปโรงเรียนที่ใหญ่กว่า มีคุณภาพมากกว่า หรืออยู่ในเมือง หรือกลับภูมิลำเนา เมื่อหลักเกณฑ์นี้กระทบกับโรงเรียนขนาดเล็ก ศธ.ก็ควรจะเร่งแก้ปัญหา เช่น อาจเร่งการบรรจุครูให้ไวขึ้น หรือปรับโครงสร้าง ปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็กใหม่” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ผศ.ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า ส่วนเกณฑ์ใหม่นี้ จะเปิดโอกาสให้มีทุจริตในการโยกย้ายหรือไม่ มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะหลักเกณฑ์ในการย้ายครูด้วยวิธีปกติ ทำให้วิ่งเต้นกันยากมาก เนื่องจากกำหนดคะแนนตัวชี้วัดในการประเมินตามองค์ประกอบการย้ายครูอย่างชัดเจน เช่น กำหนดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความจำเป็นของสถานศึกษา สภาพความยากลำบากในการปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบัน เหตุผลในการขอย้าย ดูความอาวุโส วิทยฐานะ ความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาที่รับย้าย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้เกณฑ์นี้จะป้องกันการทุจริตได้ แต่ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการย้ายคน เพราะครูเก่งๆ จะถูกย้ายออกจากโรงเรียนขนาดเล็ก มองว่าเกณฑ์การพิจารณาย้ายครู ควรจะให้น้ำหนักเหตุผลความจำเป็นว่าต้องการไปดูแลครอบครัว กลับภูมิลำเนา มากกว่าไปให้น้ำหนักกับเรื่องวิทยาฐานะ ความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า เชื่อว่าเกณฑ์ย้ายครู 4 ปี ดีกว่า 2 ปี เพราะเชื่อว่าผู้ที่จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ได้รับการอบรมมา จะรู้ และทำใจมาแล้ว ว่าหากได้รับการบรรจุแต่งตั้ง จะต้องไปโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งการไปโรงเรียนขนาดเล็ก ถือเป็นการพิสูจน์เรื่องอุดมการณ์ ความท้าทาย ความเสียสละ จิตวิญาณของครู และจะทำให้ครูเหล่านี้อยู่กับโรงเรียนขนาดเล็กจนครบ 4 ปี เมื่อครูอยู่โรงเรียนจนครบระยะเวลา จะช่วยเหลือโรงเรียน และเด็กอย่างมาก แต่เมื่อเปลี่ยนระยะเวลาการย้ายเหลือ 2 ปี จะทำให้เกิดความปั่นป่วน ครูจะไม่ทำงานอย่างทุ่มเทถึงที่สุด และจะเกิดความอลเวงกันทั้งระบบ

Advertisement

“มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองที่นำการศึกษา ต้องการหาเสียง การเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ควรต้องมีคุณธรรม มีหลักการในตัวนโยบายด้วย ไม่ควรมองเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว เกณฑ์นี้จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครูมากขึ้น เพราะครูจะย้ายกลับภูมิลำเนา หรือเน้นย้ายไปโรงเรียนในเมือง ที่มีความสะดวกสบายมากกว่า คำถามคือเรากำลังให้โอกาสครู หรือกำลังซ้ำเติมปัญหาการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image