‘วุฒิสภา’ ไฟเขียวแก้ไขคำสั่งคสช. คืนอำนาจแต่งตั้งให้เขตพื้นที่ฯ ลุ้นสภาผ่านวาระ2-3

นายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมวุฒิสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่ง คสช. ขั้นตอนจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา หากสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ก็สามารถประกาศใช้ตามขั้นตอน ทั้งนี้ หลักการที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ คืนอำนาจการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯในเขตพื้นที่ฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ผู้อํานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ว.ขอให้เพิ่มเติม นายอำเภอ และผู้แทน กศจ. เข้าไปเป็นองค์ประกอบร่วมใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ซึ่งก็แล้วแต่ทางสภาว่าจะเห็นชอบตามที่เสนอหรือไม่

“ผมเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยให้กำหนดองค์ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯไว้ในกฎหมาย เพราะในมาตร 9 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯให้อำนาจ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดองค์ประกอบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ทาง ส.ว.คงไม่สบายใจจึงอยากให้กำหนดไว้ ซึ่งในอนาคตหากพบปัญหาอาจจะแก้ไขได้ยากกว่าออกเป็นประกาศ ก.ค.ศ.” นายตวงกล่าว

นายตวงกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การแก้ไขคำสั่ง คสช.ครั้งนี้ ไม่ถือเป็นการวนกลับไปที่เดิม เพราะเป็นการคืนอำนาจให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ คือ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของครู การให้ กศจ. ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานดำเนินการ จึงทำให้เกิดความซับซ้อนมากกว่าเดิม และการให้จังหวัดดำเนินการเรื่องนี้ ถือเป็นการถอยหลังกลับไปทำในรูปแบบเดิมเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ที่มีศึกษาธิการจังหวัด ผู้ว่าฯดำเนินการ การบริหารจัดการรูปแบบนี้ ถือเป็นการเดินไปข้างหน้า ให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการ ซึ่งจะมีผู้แทนครูและไตรภาคี ดำเนินการรวมกัน ส่วน ศธจ. ก็ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในภาพรวมของแต่ละจังหวัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … นั้น ตนพยายามเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถเสนอให้สภาพิจารณาวาระ 2 และ 3 ได้ภายในเดือนกันยายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image