ปลัดศธ. แจงปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องแผนจัดสรรงบ-แผนปฏิรูปประเทศ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่าการศึกษาไทยแย่ลง เด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนถูกปิดตัวมากขึ้น ไม่ยึดประโยชน์นักเรียนเป็นตัวตั้ง แต่กลับยึดประโยชน์ของครูแทนนั้น ขอชี้แจงให้ทราบว่า การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการอยู่ใน 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปส.) เพื่อทำหน้าที่ในการวางโครงร่างปฏิรูปการศึกษาของประเทศในช่วงปี 2560 – 2562 ซึ่งมีผลงานคือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ช่วงที่ 2 คือการกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาซึ่งต้องดำเนินการในช่วงปี 2562 – 2565 แต่เนื่องจากการกำหนดแผนปฏิรูปประเทศนั้นออกในช่วงต้นปี 2562 ทำให้ไม่สามารถจัดงบประมาณได้ทัน เพราะมีการวางแผนงบประมาณปี 2563 ไปแล้ว จึงต้องไปตั้งงบประมาณบางส่วนในปี 2564  ช่วงที่ 3 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาชุดที่ 2 ขึ้นในปี 2563 และคณะกรรมการชุดนี้ได้ปรับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับที่ 2 เป็น 5 ประเด็นหลัก หรือเรียกว่า 5 BIG ROCKs และประกาศใช้ในปี 2564 ทำให้จัดทำงบประมาณไม่ทัน จึงต้องวางแผนงบประมาณเริ่มต้นในปี 2565

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า  จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของแผนปฏิรูปประเทศจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับการวางแผนงบประมาณด้วยข้อเสนอที่ควรดำเนินการ คือ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนงานปฏิรูปจะต้องปรับแผนงบประมาณโดยทันทีภายใน 90 วัน โดยให้เป็นความสำคัญอันดับแรกของหน่วยงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ อีกกรณีที่ถูกพูดถึงคือเรื่องเด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนถูกปิดตัวมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่จำนวน 29,100 โรงเรียน โดย 51% เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนักเรียนอยู่ประมาณ 40-80 คน โดยผลกระทบในเชิงคุณภาพ คือ ชั้นเรียนแต่ละห้องจะมีนักเรียนอยู่ประมาณ 4-11 คน ซึ่งจะเป็นปัญหาในการพัฒนาทางสมรรถนะทางร่างกาย และสมรรถนะพฤติกรรมทางสังคม รวมถึงวุฒิภาวะในการทำงานแบบรวมกลุ่ม เนื่องจากเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก ทำให้ในความเป็นจริงคุณครูที่ทำงานในโรงเรียนขนาดเล็กมีภาระงานค่อนข้างมากในการดูแลนักเรียนพร้อม ๆ กับความจำกัดทางด้านทรัพยากร

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ นับแต่หลังปี 2555-2564 มีเด็กที่เกิดใหม่ลดลงเรื่อย ๆ จาก 802,000 คนเหลือ 544,000 คน หากคิดเป็นสัดส่วนลดลงประมาณ 33% ทำให้โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 -3 และชั้นประถมศึกษา 1-6 จะมีจำนวนผู้เข้าเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จึงเกิดโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และโรงเรียนบางแห่งอาจจะไม่มีผู้เรียน จึงจำเป็นที่จะต้องควบรวมในบางครั้งหรือยุติการเรียนการสอนในโรงเรียนบางแห่ง ดังนั้น การวางแผนของ ศธ.จึงใช้วิธีดำเนินการ “โรงเรียนคุณภาพชุมชน” เป็นเครือข่ายการพัฒนาสถานศึกษาหลายแห่งร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเป็นเครือข่ายหมุนเวียนทรัพยากรครูให้ครบสาขาวิชา และช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน รวมทั้งส่งต่อนักเรียนในเครือข่ายไปสู่การเรียนระดับสูงขึ้นได้อย่างเป็นระบบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image