เสียงสะท้อนปรับโฉม ‘กยศ.’ ไร้ดอก-งดปรับ

เสียงสะท้อนปรับโฉม ‘กยศ.’ ไร้ดอก-งดปรับ

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ฉบับที่. … ในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ ได้แก่ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย

มุมมองจาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กยศ. จะผ่านรัฐสภาแล้ว แต่ในขั้นตอนวุฒิสภา ฝ่ายกระทรวงการคลัง และ กยศ.ยังสามารถไปชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ซึ่ง กยศ.จะต้องไปรายงานทั้งสภาพคล่อง รวมทั้งประเมินความต้องการกู้ยืมในอนาคต

ส่วนกรณีผ่านวุฒิสภาไปแล้ว กยศ.จะต้องวางแผนบริหารจัดการ จากเดิมที่จะมีรายได้เสริมสภาพคล่องจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ แต่เมื่อไม่มีเงินจากส่วนนี้เข้ามา ก็จะต้องวางแผนบริหารในอีกรูปแบบหนึ่ง

Advertisement

ขุนคลังระบุอีกว่า ข้อกังวลเรื่องสถานะการเงินของ กยศ.นั้น ปัจจุบันยังไม่เห็นปัญหาส่วนนี้ แต่ได้คาดการณ์ว่า ถ้ามีความต้องการใช้มากขึ้น แต่รายได้ไม่เข้ามาเพิ่ม เพราะไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะต้องใช้เงินก้อนเดิมที่เป็นเงินต้นมาใช้หมุนเวียน ดังนั้น เงื่อนไขที่สำคัญต้องทำให้ผู้กู้ต้องคืนเงินต้น

“ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” ผู้จัดการ กยศ. เผยว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตามที่รัฐสภาเห็นชอบ ทางคณะกรรมการกองทุน จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะกองทุนและการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยกู้ให้กับนักเรียนในระยะต่อไป

เนื่องจากในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ประมาณ 40,000 ล้านบาท เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับประมาณ 6,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้จะหายไป อย่างไรก็ตาม กองทุนหวังว่าเมื่อมีการยกเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของเด็กมีมากขึ้น ช่วยสภาพคล่องของกองทุนได้

Advertisement

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กยศ.ต้องเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจงต่อวุฒิสภา ประเด็นสำคัญ คือ เหตุจำเป็นที่จะต้องมี ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และผลกระทบต่างๆ ซึ่งตามกระบวนการกฎหมายใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน เพราะเป็นกฎหมายด้านการเงิน หากผ่านวุฒิสภาเห็นชอบต้องรอกระบวนการออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งมีเวลาอีกระยะหนึ่ง แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบ จะต้องมีการตีกฎหมายกลับมา และมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อแก้ไขร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง

“ยังต้องรอดูกฎหมายว่าจะออกมาในแนวทางไหน และมาประเมินเงินที่มีอยู่ กับเงินที่จะเข้ามาต่อปี จากการชำระคืนเงินกู้ เพื่อวางแผนบริหารจัดการ ซึ่งยังมองในแง่บวกว่าหากไม่มีดอกเบี้ย ผู้กู้อาจหันมาชำระคืนมากขึ้น เพื่อส่งต่อเงินให้กับรุ่นน้อง ซึ่งแน่นอนว่ากองทุนยังพร้อมปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้องต่อไป ส่วนแผนการปล่อยกู้ที่วางไว้แล้วก่อนหน้านั้น เมื่อกฎหมายใหม่ออกมาแล้ว จะมีการทบทวนแผนและปรับแผนใหม่เพื่อเสนอขออนุมัติจากบอร์ด กยศ.อีกครั้ง” นายชัยณรงค์ระบุ

ผู้จัดการ กยศ.กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2538 กองทุนใช้เงินงบประมาณสำหรับให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ขณะนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี มีเงินหมุนเวียนแล้ว 4 แสนล้านบาท ปล่อยกู้กว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน

ทั้งนี้ มีผู้ปิดบัญชีการชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยจากจำนวนดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท

“ในปี 2561 เป็นปีสุดท้ายที่ขอใช้งบจากรัฐบาล จากนั้นกองทุนดำเนินการโดยใช้เงินหมุนเวียน ซึ่งการปล่อยสินเชื่อทางการศึกษาในปัจจุบันกองทุนปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท และไม่จำกัดจำนวนบุคคลในการปล่อยกู้” ผู้จัดการ กยศ.ทิ้งท้าย

ขณะที่ “อดิศร เนาวนนท์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) เผยว่า การช่วยลดภาระประชาชนในช่วงที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กรณีไม่เก็บดอกเบี้ย กยศ.มองได้หลายมุม

มุมหนึ่งคือเรื่องวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการสร้างวินัยทางการเงินของคน หากให้กู้โดยไม่เก็บดอกเบี้ย อาจเป็นการลดวินัยในการชำระหนี้ และทำให้คนไม่เห็นความสำคัญกับการชำระเงินต้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมาในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายภาคส่วน ทั้งสถาบันการเงิน และภาคเศรษฐกิจ ต่างหามาตรการช่วยลดภาระให้กับประชาชน อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน แต่ไม่ใช่ไม่เก็บดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

“ที่สภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงนี้ ชัดเจนว่าเป็นการหาเสียง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแม้การเมืองจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตของประชาชน แต่การออกกฎหมายที่ทำให้คนขาดวินัย และขาดความรับผิดชอบ ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนตัวมองว่าระยะยาวจะเป็นปัญหา หากผู้กู้ไม่เห็นความสำคัญของการชำระดอกเบี้ย ก็จะไม่เห็นความสำคัญของการชำระเงินต้นตามไปด้วย แต่ที่น่าห่วงคือ จะเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ไม่ดีให้กับประชาชน” นายอดิศรกล่าว

ด้าน เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะจะมีคำถามตามมาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยย้อนหลังคืนให้ผู้ที่เคยกู้ยืมหรือไม่ มองว่าเรื่องนี้เป็นการเล่นการเมือง เป็นการหาเสียงชัดเจน และไม่คำนึงถึงวินัยการเงินของประชาชน เป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ผิดให้กับประชาชน ควรเป็นการช่วยเหลือในลักษณะที่คิดดอกเบี้ยต่ำ หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านการเงิน

“การงดเว้นดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ จะทำให้คนที่ขาดความรับผิดชอบ คนที่ทำผิดกฎกติกาได้ประโยชน์ ในขณะที่คนตรงไปตรงมา จ่ายหนี้ตรงเวลา กลับไม่ได้ประโยชน์ เป็นการสร้างต้นแบบที่ไม่ถูกต้อง และสร้างวินัยทางการเงินที่ไม่ดีให้กับประชาชนด้วย เพราะถ้ากฎหมายนี้ผ่าน จะมีคนตั้งคำถามตามมาว่า เมื่องดเว้นดอกเบี้ย กยศ.ได้ แล้วดอกเบี้ยการกู้เงินอื่นๆ เช่น การกู้เงินจากธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ก็ควรจะได้รับประโยชน์เช่นเดียวกันหรือไม่ เป็นต้น ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาแล้ว แต่ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะประกาศ และบังคับใช้ ผมหวังว่าที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ” เอกชัยเป็นห่วง

ส่วน จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีความเห็นว่า กรณีนี้คิดได้หลายแง่ มองในแง่ดี เป็นการให้โอกาสทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ประเทศชาติได้ประโยชน์ เพราะเมื่อนิสิตนักศึกษาเรียนจบ ก็ต้องทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ เพียงแต่หากจะให้กู้โดยไม่เก็บดอกเบี้ย อาจต้องปรับแนวทาง ไม่ใช้คำว่า “กู้ยืม” เพราะหากใช้คำนี้ หมายความว่าต้องเสียดอกเบี้ย โดยอาจใช้คำว่า “การให้ทุน” ที่เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาใช้ทุนคืนเต็มจำนวน หากเป็นเช่นนี้ ก็เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์

“ส่วนข้อกังวลว่าจะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน และไม่ชำระเงินต้นเพิ่มมากขึ้นนั้น ทางผู้ที่เกี่ยวข้องต้องวางมาตรการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการติดตามหนี้ที่จะต้องรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สูญ นำมาสู่การฟ้องร้องในภายหลัง ที่สำคัญจะได้มีเงินหมุนเวียนปล่อยกู้ให้กับนิสิตนักศึกษารุ่นต่อๆ ไปด้วย” จงรักระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image