นักวิชาการ เผย “เบื้องลึก” เหตุชาวบ้านโวยกรมศิลป์เวนคืนที่ดินเมืองพิมาย มึน ! ขึ้นทะเบียนแล้ว 80 ปี เพิ่งมีปัญหา

ภาพเล็ก ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ

สืบเนื่องกรณีชาวบ้านในอำเภอพิมายรวมตัวคัดค้านการเวนคืนที่ดินบริเวณเขตโบราณสถานเมืองพิมาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตภาคอีสาน กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาดังกล่าว เกิดจากการที่กรมศิลปากรไม่ได้ประกาศเรื่อง กำหนดขอบเขตโบราณสถานเมืองพิมายมาก่อน แม้ว่าจะเคยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายไว้แล้ว เมือ 27 กันยายน  พ.ศ. 2479  หรือเมื่อ 80 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการขึ้นทะเบียนไว้เพียง 8 จุด ได้แก่ 1. แนวคูเมือง กำแพงเมือง 2 .ประตูชัย 3. ประตูหิน 4. ประตูผี  5. ประด้านทิศตะวันออก (ไม่มีชื่อ) 6. คลังเงิน 7. ปราสาทหินพิมาย 8. เมรุพรหมทัต รวมถึงมีการได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาทั้งกุฏิฤาษีน้อย (15 มีนาคม 2526) และท่านางสระผม (28 เมษายน 2524) ซึ่งอยู่นอกเมือง (คูเมือง กำแพงเมือง) สำหรับ บารายด้านทิศใต้ตามแนวแกนของเมือง กรมศิลปากรไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมาก่อน แต่โดยอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติของบารายเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีก็ถือว่าเป็นโบราณสถาน

ประกาศเขตโบราณสถาน

ลักษณะของบาราย มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 700 เมตร ยาวตามแกนทิศเหนือ-ใต้ 1700 เมตร มีวัดโคก บนเนินดินกลางบาราย อาจเทียบได้กับปราสาทกลางบารายเช่น ปราสาทแม่บุญตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่กลางบารายตะวันตก ในกัมพูชา เป็นต้น จึงไม่มีถนนโบราณตามที่บางคนเข้าใจว่ามีแนวถนนโบราณมาจากเมืองพระนครมาสิ้นสุดที่ท่าน้ำตรงข้ามกับท่านางสระผม

Advertisement

ท่านางสระผม ที่ได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานแล้ว คือส่วนหนึ่งของท่าน้ำริมขอบคันดินของบารายทางด้านทิศเหนือ ลักษณะอาคารมีผังพื้นรูปกากบาท ก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีบันไดลงสู่ริมน้ำ ด้านบนฐานศิลาแลงมีร่องรอยหลุมเสา รับโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ทรงจตุรมุข ขอบเขตของท่านางสระผม มีเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับบารายหรือสระคนขุดขนาดใหญ่ ต้องถามกลับไปว่าทำไมกรมศิลปากรถึงประกาศขอบเขตเพียงแค่นี้ เพราะความรู้เกิดขึ้นภายหลังจึงเป็นเรื่องยุ่งยากในการกำหนดแผนการอนุรักษ์โบราณสถาน และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งชาวบ้านและให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเองที่ต้องการหลักฐานในการชี้แนวเขตโบราณสถาน

ท่านางสระผม

“ผมเพิ่งกลับจากการประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ตามคำสั่งคณะกรรมการการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าพิมาย เรื่องพิจารณาคือ มาตรการ ข้อระเบียบ กฏหมาย และระเบีบยบปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารภายในบริเวณเมืองเก่า แน่นอนที่สุดว่าบทบาทหน้าที่อันโดดเด่นที่สุดคือ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา หนึ่งในคณะทำงาน มีหน้าที่โดยตรงในการชี้ว่าบริเวณที่ภาครัฐที่ขออนุญาตก่อสร้างนี้จะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่

Advertisement

สิ่งสำคัญที่จะให้เจ้าพนักงานชี้ว่าได้ไม่ได้คือเขตโบราณสถาน ที่กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เนื่องจากเมืองพิมายได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาไว้เพียงแต่จุดสำคํญเท่านั้น ยังไม่ได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในจุดสำคัญในภาพที่ 2 คือ เมืองพิมาย ในเอกสารทะเบียนโบราณสถาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 1 กรมศิลปากร 2529 ระบุ ได้รวบรวม ปราสาทหินพิมาย คลังเงิน เมรุพรหมทัต ซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ แนวกำแพงเมือง และคูเมืองรวมไว้เป็นเมืองพิมาย ส่วนท่านางสระผม และกุฏิฤาษีน้อยนั้น ได้แยกออกประกาศกำหนดขอบเขตในราชกิจจาฯ เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 และ 15 มีนาคม 2526 ตามลำดับ

จนเมื่อ วันที่ 16 กันยายน 2559 กรมศิลปากรได้แจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย ให้คัดค้านเรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน

เรื่องนี้คงอีกยาวครับ แต่เรื่องใกล้ตัวผมต่างหากที่สร้างปัญหาให้คณะอนุกรรมการไม่น้อยเพราะหลายคนเข้าใจเรื่องเมืองพิมาย แต่เมื่อต้องพิจารณาเรื่องรี้ว่ากระทบกับโบราณสถานหรือไม่ผมต้องว่าตามเนื้อผ้าก่อนคือเมื่อสิ่งก่อสร้างเขาอยู่นอกเขตโบราณสถาน เพราะกรมศิลปากรยังไม่ได้กำหนดขอบเขต ผมจำเป็นต้องยกมือเห็นชอบในการพิจารณาครั้งนี้ ทั้งหมดนี่คือความยุ่งยาก ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานมาแล้วตั้งแต่ปี 2479 กรมศิลป์จะตอบคำถามชาวบ้านอย่างไรเพราะหากประกาศขอบเขตออกมาโบราณสถานดันไปอยู่ภายใต้การครอบครองโดยถูกกฏหมายมาก่อนหน้า” นายทนงศักดิ์กล่าว

บาราย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image