ผุดไอเดียสร้างหลักประกันการศึกษา ‘อรรถพล’ เดินหน้าประกาศนโยบายศธ. เน้นสร้างโอกาส-เตรียมคนสู่โลกยุคใหม่

ผุดไอเดียสร้างหลักประกันการศึกษา ‘อรรถพล’ เดินหน้าประกาศนโยบายศธ. เน้นสร้างโอกาส-เตรียมคนสู่โลกยุคใหม่

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ประกาศนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษา อย่างเป็นทางการ โดยเน้น การสร้างหลักประกันการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลักการสำคัญคือ พัฒนาคนเข้าสู่ยุค BANI World เตรียมพร้อมสำหรับโลกในยุคต่อไป ตามสถานการณ์โลกที่มีความเปราะบาง ความกังวล เกิดภาวะ ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ หรือLearned helplessness โลกที่สัมพันธ์ไม่เป็นเส้นตรง มีปัจจัยแทรกซ้อน ตัวแปร และสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และโลกที่เข้าใจยาก ซึ่งศธ.จำเป็นต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 มีภูมิคุ้มกัน มีสติเข้าใจตนเอง ปรับตัวเก่ง ล้มแล้วรุกเร็ว พัฒนาแนวกว้าง มองทั้งระบบ คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และกล้าคิด กล้าตัดสินในสภาวะเสี่ยง

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการฟื้นฟูการศึกษา ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการเรียนรู้ถดถอน หรือLearing Loss เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาและลดการสูญเสียการเรียนรู้อย่างเร่งด่วน ตามแนวทางของกองทุนสหประชาชาติเพื่อสงเคราะห์เด็กยูนิเซฟ หรือยูนิเซฟ อาทิ การพัฒนาระบบเตือนภัย และให้ความสำคัญกับระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา ติดตามข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคล การเน้นเนื้อหาสำหรับผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ที่จำเป็นต่อการเรียนรูในอนาคต เป็นต้น

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจะต้องเร่งพัฒนาการจัดการศึกษาระดับสากล ซึ่งไทยได้ร่วมลงนาม รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ในที่ประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ซึ่งเป้าหมายที่ 4 คือ การศึกษาที่มีคุณภาพ โดยจะเร่งผลักดันปฏิญญากรุงเทพฯ 2565 ใน 7 เรื่องคือ 1.การศึกษาเพื่อความเสมอภาคและทั่วถึง สร้างหลักประกันโอกาสเข้าถึงการศึกษา โดยมีระบบธนาคารหน่วยกิตที่เชื่อมโยง 2. ยกระดับคุณภาพการศึกษา เร่งปฏิรูปหลักสูตร ลดเนื้อหาซ้ำซ้อน ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ เร่งพัฒนาครู และจัดทำมาตรการยกระดับคุณภาพให้เท่าเทียม 3.พัฒนาการเรียนรู้ทักษะชีวิตทักษะอาชีพและการงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 4.พัฒนาครูให้มีทักษะสูง โดยเฉพาะทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบแอคทีฟเลินนิ่งได้ 5.การเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัลการเรียนการสอน โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล 6.การวางแผนการบริหารและการกำกับติดตาม จัดให้มีระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ติดตามเด็กเป็นรายบุคคล เป็นระบบข้อมูลแบบเปิดที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ และ7.ปรับปรุงและเพิ่มการลงทุนเพื่อการศึกษา วิเคราะห์และปรับปรุงหลักสูตร เพื่อดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่ตนจะเร่งดำเนินการเพื่อจัดการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป

“นอกจากนี้ยังได้หารือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการศธ. การพัฒนาครูและเด็ก ตามความร่วมมือ ไทย-ออสเตรีย ในเรื่อง ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการเจรจาความร่วมมือในส่วนของการพัฒนาภาษาและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ออสเตรียได้ทำความร่วมมือกับไทยมากกว่า 30 ปี โดยตั้งเป็น วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ แต่ก็ไม่เคยมีการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือทำ MOU ดังนั้นก็จะถือโอกาสเจรจาเพื่อให้เกิดเป็นความร่วมมือ ขยายผลไปยังวิทยาลัยอื่น ๆ และจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะตั้งคณะทำงาน เพื่อหารือและจัดทำร่างแนวทางความร่วมมือต่อไป ขณะเดียวกันวันที่ 14-15 พฤศจิกายนนี้ รัฐมนตรีว่าการศธ. จะเข้าร่วมประชุมในเรื่องของปฐมวัยในภาคพื้นเอเชียและยุโรป ที่ประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งมีรัฐมนตรีการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยเข้าร่วมประชุม 65 ประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการพูดถึงกรอบมาตรฐานที่ควรมีเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย และมาตรฐานในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นในการดูแลเด็กตามวัยด้วย จะทำให้เราได้ความคิดดี ๆ กับมาพัฒนาเด็กปฐมวัยในบ้านเราได้ เพราะขณะนี้เรามีพ.ร.บ.ปฐมวัยแล้ว”นายอรรถพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image