เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านตรีไทย เปิดเผยกับ “มติชนออนไลน์” ว่า ตนได้ศึกษาเรื่องราวของเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยตั้งข้อสังเกตใหม่ว่า เพลงดังกล่าวซึ่งแต่งเนื้อร้องโดย สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นั้น นับเป็น “ปฐมบท” ของเพลงไทยสากล หรือเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกที่เกิดขึ้นในประเทศ ทว่า ที่ผ่านมา เป็นที่รับรู้และเชื่อว่ายุคเริ่มต้นของเพลงไทยสากล เกิดขึ้นโดย “พรานบูรพ์” หรือ จวงจันทร์ จันทร์คณา นักแต่งเพลงซึ่งปฏฺรูปรูปแบบเพลงไทยประกอบละครร้อง จากท่วงทำนองเพลงไทยเดิมที่มีลูกเอื้อนให้มีลักษณะสากลยิ่งขึ้น จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มเพลงไทยสากล
อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนค้นคว้าข้อมูล พบว่า ความจริงแล้ว เพลงไทยสากล กำเนิดขึ้นเพลงแรก ก็คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี เนื่องจากเป็นเพลงที่ถูกออกแบบเนื้อร้องขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ใช่การนำโคลงสี่สุภาพหรือข้อความในวรรณคดีมาใส่ในทำนองเพลงไทยเดิม ดังเช่นที่เจ้ากรมอาลักษณ์ (น้อย อาจารยางกูร) ใช้กับเพลง God save the Queen จอมราชย์จงเจริญ หรือกระทั่งที่เปลี่ยนมาเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว เข้าใจว่ายังใช้โคลงสี่สุภาพอยู่ เพราะโรงเรียนสวนกุหลาบฯ เมื่อมีการเสด็จพระราดำเนินไปพระราชทานรางวัลประจำปี จะมีการแต่งโคลงเพื่อเป็นเนื้อร้องใหม่ทุกปี แล้วนำมาฝึกให้เข้ากับทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี กระทั่งปีพ.ศ. 2431 เจ้าฟ้านริศฯ ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องนี้ขึ้นมา แล้วใช้เป็นทางการนับแต่นั้นมา ตอนนั้นอายุแค่ 24 ปี ประทับที่วังท่าพระ
“นิยามของเพลงไทยสากลคือ ทำนองที่ไม่ใช่ลีลาแบบดนตรีไทย แต่เป็นแบบฝรั่ง การใส่เนื้อร้อง ไม่ใช่แบบกลอนแปดอย่างที่ร้องเหมือนละครหรือโขนซึ่งมักคิดกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคของพรานบูรณ์ คือ จวงจันทร์ จันทนา จนถึง สุนทราภรณ์ และม.ล.พวงร้อย สนิทวงศ์ที่แต่งเพลงบัวขาว ซึ่งคำร้อง วรรณยุกต์ การผันเสียงที่ต้องตรงกับโน้ต เพื่อให้การผันเสียงร้องไม่เพี้ยน แต่ผมคิดว่า จริงๆแล้วเพลงไทยสากลเพลงแรก เกิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า ข้าวรพุทธเจ้า เพราะตรงกับนิยามเพลงไทยสากล คือ เปลี่ยนจากการนำโคลงสี่สุภาพหรือวรรณคดีมาใส่ทำนองดนตรีไทยเดิมเหมือนในอดีต มาเป็นการแต่งเนื้อขึ้นใหม่โดยใช้คำร้องบรรจุลงไปกับทำนองจนจบเพลง ตั้งแต่ขึ้นต้นจนลงท้าย นั่นคือลักษณะของความเป็นสากล ซึ่งเข้ากับความทันสมัยของชนชั้นสูง แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการพัฒนาต่อจากเจ้าฟ้านริศ ฯ แล้วมามีอีกทีหนึ่งในยุคพรานบูรณ์เลยซึ่งมากันคนละสาย ไม่ได้เป็นพัฒนาการที่สืบเนื่อง” นายเสถียรกล่าว
นายเสถียร ยังกล่าวอีกว่า เพลงสรรเสรฺิญพระบารมีที่ร้องกันในปัจจุบัน ถือกำเนิดสมัย ร.5 เนื้อร้องออกแบบขึ้นครั้งแรกโดยใช้ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ร.5 ที่ กลาโหมหรือยุคนั้นเรียกกรมยุทธนาธิการเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2431 แม่งานคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมนริศรานุวัติวงศ์ มีการออกแบบการบรรเลง มีวงดนตรีไทย และวงผสมแบบสากล สมเด็จเจ้าฟ้านริศฯ ทรงเขียนอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จว่าเนื้อร้องทำไว้ให้ทหารบกร้อง ต่อมาให้พลเรือนร้องทั้งหญิงและชาย ใช้ในการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่วังบ้านหม้อ และให้นักเรียนร้องตามโรงเรียนอีกด้วย
ทั้งนี้ นายเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เป็นอดีตนักวิจัยของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย และเป็นเจ้าของผลงานด้านดนตรีหลายชิ้น อาทิ เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ , หัดเป่าขลุ่ยกันเถอะ, บรรโลมบรรเลงเพลงขลุ่ย เป็นต้น