นักโบราณคดีรับ “แปลกใจ” พบโครงกระดูกในวังจันทน์ ย้ำไม่ด่วนสรุป อ.โบราณคดี ชี้ตามประเพณีต้อง “เผา” ก่อนฝัง

สืบเนื่องกรณีพบโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ภายในเขต วัดวิหารทอง พระราชวังจันทน์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โบราณสถานสมัยกรุงศรีอยุธยา

นางนาตยา กรณีกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ ประจำสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กล่าวว่า โครงกระดูกมนุษย์ที่พบนั้น ถือว่าอยู่ลึกลงไปในพื้นดินไม่มากนัก จึงสันนิษฐานอย่างกว้างๆ ว่าน่าจะมีอายุสมัยอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขอด่วนสรุป เพราะการขุดค้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อีกทั้งยังไม่พบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จะสามารถบ่งชี้ถึงอายุสมัยอย่างเด่นชัด เบื้องต้นมีเพียงเศษภาชนะดินเผาที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเท่านั้น

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า หากเป็นโครงกระดูกในยุครัตนโกสินทร์ แล้วเหตุใดจึงไม่ถูกเผาตามพิธีกรรมในพุทธศาสนา ซึ่งโครงกระดูกนี้ก็พบในเขตศาสนสถานอันเนื่องในศาสนาพุทธอีกด้วย

นางนาตยากล่าวว่า ตนยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจเช่นกัน ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจึงต้องดำเนินต่อไป เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ โดยจะมีการขุดค้นอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งแผนงานที่วางไว้คือการขุดค้นพื้นที่ทั้งหมดของบริเวณโบราณสถาน คาดว่าน่าจะได้พบหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ ตีความทางด้านวิชาการต่อไป

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบข้อมูลและบริบทต่างๆของการขุดค้นในครั้งนี้มากนัก โดยเฉพาะประวัติการดำเนินงานทางโบราณคดี ซึ่งเดิมอาจเคยได้รับการขุดแต่ง จึงน่าจะมีการปรับผิวหน้าดินมาก่อน ดังนั้น ยังไม่สามารถวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในวัดจุฬามณี จ.พิษณุโลก เคยมีการขุดค้นพบโถใส่กระดูก ฝังกับอาคาร เช่น เจดีย์ และกำแพงแก้ว ไม่ใช่การฝังทั้งตัวดังเช่นที่พบในวัดวิหารทอง ซึ่งหากเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในยุคหลัง อย่างรัตนโกสินทร์ ตามประเพณีทางพุทธศาสนาต้องเผา แล้วนำกระดูกใส่ภาชนะ แตกต่างจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งยังไมไ่ด้มีการยอมรับนับถือพุทธศาสนา จึงพบโครงกระดูกฝังตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ

“ข้อมูลตอนนี้ยังไม่มากพอ ต้องดูบริบทต่างประกอบด้วย เพราะวัดพวกนี้เคยขุดแต่งมาก่อน จึงไม่ทราบว่าโครงกระดูกที่พบนั้น ลึกจากผิวดินจริงๆ เท่าไหร่กันแน่  และต้องตรวจสอบว่าเจอในเขตกำแพงแก้ว หรือจุดไหนของวัด  สำหรับการฝังกระดูกในวัด ถ้าคนรุ่นหลัง ต้องเผาแล้วใส่โกศ  เช่น วัดจุฬามณี เคยขุดเจอโถ ไม่ได้ฝังทั้งตัว แต่ฝังลงใต้พื้นดินบริเวณใกล้ฐานอาคารศาสนสสถาน เช่น เจดีย์ฯ ซึ่งยังพบในศาสนสถานสมัยอยุธยาแห่งอื่นๆด้วย ” ผศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว

 

Advertisement
ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image