คารวะ – อาลัย “ดร.ลิขิต” จากศิษย์ – นักวิชาการ

การเสียชีวิตของ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ เมื่อกลางดึกวันที่ 20 พ.ย. ทำให้แวดวงวิชาการ ลูกศิษย์ และผู้ติดตามผลงานคิด เขียน พูดของ ศ.ดร.ลิขิต ต่างแสดงความอาลัย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้จักอาจารย์ลิขิตจากผลงานทางวิชาการ โดยในเชิงคุณูปการที่มีต่อสังคมไทยนั้น ศ.ดร.ลิขิต ถือว่าเป็นผู้ที่มีผลงานทางรัฐศาสตร์อย่างมาก นอกจากเป็นอาจารย์ผู้สอนและมีผลงาน ก็ยังมีความซื่อตรงทางวิชาชีพในการแสดงความเห็นตามหลักวิชาการ ทั้งยังทุ่มเทในการสอนและให้ความรู้กับนักศึกษา รวมถึงนักวิชาการในวงการรัฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง ถือเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ทรงคุณค่าคนหนึ่งของประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านต้องจากไปอย่างรวดเร็ว โดยตนเองก็มักจะแลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์ลิขิตอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่ทราบข่าวก็รู้สึกเสียใจ

ทั้งนี้แม้อาจารย์ลิขิตจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ความคิดความอ่านของอาจารย์ยังคงมีความแหลมคมอยู่เสมอ

เมื่อถามว่าในเชิงรัฐศาสตร์อาจารย์ลิขิตมีความโดดเด่นด้านไหน ศ.ดร.ไชยวัฒน์ระบุว่า อาจารย์ลิขิตมีความโดดเด่นด้านงานวิชาการที่มีการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย เป็นผู้ที่มีอุดมการที่จะทำให้สังคมเข้าใจถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งกับที่ และมักแสดงความคิดเห็นอย่างสอดคล้องกับหลักวิชาการและตรงไปลงมาเสมอ ไม่ว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ท่านก็พร้อมที่จะยืนยันความเห็นตามหลักวิชาการของท่าน ถือว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญทางวิชาการ

Advertisement

สิ่งสำคัญที่สุดแม้อาจารย์ลิขิตจะเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวาง เป็นคนที่ผลิตผลงาน ที่ทำให้นักศึกษาไทยได้ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทยโดยเฉพาะหนังสือวิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย และ ผลงานอีกจำนวนมาก เป็นหนังสือที่นักวิชาการและภาษาไทยต้องอ่านไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ถือเป็นบุคคลที่พลังในทางความคิดและการเขียน หรือแม้แต่ความสามารถในการพูดที่ช่วยกระตุ้นให้การเกิดการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาและอยู่บนหลักวิชาการ ถือเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งการถกเถียงก็จะเป็นบ่อเกิดของความรู้ต่อไป

สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการประวัติศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก Somrit Luechai เช้าวันที่ 21 พ.ย.ว่า เมื่อวานกำลังยิ้มด้วยความดีใจ ก็ต้องหุบเพราะได้ข่าวเศร้า
เมื่อทราบว่า ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ท่านสิ้นแล้ว
ท่านเป็นอาจารย์และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโทรัฐศาสตร์ของผม
ผมเจออาจารย์ล่าสุดที่มหาสารคามเมื่อ 3 ปีก่อน
ที่โต๊ะอาหารค่ำวันนั้น อาจารย์เล่าอะไรให้ฟังหลายเรื่อง ที่จำได้แม่นคือเรื่องลึกๆ ตอนที่อาจารย์ไปช่วยพรรคความหวังใหม่และการเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ 12 วัน
อาจารย์เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ทำให้ธรรมศาสตร์หม่นหมอง
ขอกราบคารวะดวงวิญญาณของท่าน ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ครับ

อีกข้อความรำลึกอาลัย มาจาก ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อ.ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ศิษย์อีกคนของอาจารย์ลิขิต มีเนื้อหาดังนี้

ศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ถึงแก่กรรมแล้ว ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวธีรเวคิน

ผมเรียนกับอาจารย์ลิขิตในขณะที่อยู่ชั้นปี 2 และปี 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยลงเรียนด้วย 2 วิชาคือ ทฤษฎีการพัฒนาการเมืองให้ทันสมัยและการเมืองการปกครองไทย ในปีการศึกษา 2530 และ 2531 ตามลำดับ
ผมเรียนทฤษฎีการเมืองก่อนในปี 2 ทั้งๆ ที่เป็นวิชาของปี 4 แต่อาจารย์ก็สอนให้เข้าใจโดยง่าย ทั้งแนวคิด Modernization และสำนัก Behavior Science ที่อาจารย์เชี่ยวชาญ จนเรียกได้ว่า ความรู้ทั้งหมดเป็นฐานที่ดีในการเข้าใจวิชาต่างๆ ของรัฐศาสตร์ กระแสหลัก จวบจนทุกวันนี้

ในขณะที่วิชาการเมืองการปกครองไทยเป็นวิชาที่คนเรียนมาก จนเต็มล้นห้อง ร.103 อาจารย์สอนสนุกด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์และความใจต่อการเมืองไทยอย่างดีของอาจารย์ ในขณะที่ตัวอาจารย์เองก็ข้องเกี่ยวกับการเมืองในขณะนั้น ในบทบาทของที่ปรึกษา
และต่อมา หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอาจารย์ไปผันตัวเข้าสู่วงการเมือง โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สส บัญชีรายชื่ออีกด้วย

ผมได้พบกับอาจารย์อีกลิขิตอีกครั้งในช่วงที่ กปปส. ออกมาชุมนุม และร่วมสนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในขณะนั้น และครั้งสุดท้ายที่ได้สนทนากับอาจารย์ เป็นอาหารมื้อเที่ยงที่ มศก. วิทยาเขตปราณบุรี มีพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผม และอีกหลายๆ คน

วันนั้นเป็นการสนทนาที่สนุก ในด้านหนึ่งเหมือนกลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้ง ในอีกด้านเหมือนเป็น colleague ที่อาจารย์รับฟัง แลกเปลี่ยนความรู้ และไม่มองว่า บรรดาลูกศิษย์ที่นั่งร่วมโต๊ะคือเด็ก แต่ยอมรับในสถานะของนักวิชาการ วันนั้น หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ อาจารย์ดูเหมือนว่า ยังอยากคุยต่อ และยังไม่อยากกลับ แต่เนื่องจากอาจารย์ติดภาระต้องเดินทางไปพิษณุโลกในวันรุ่งขึ้น ทำให้เราต้องจากลากัน ก่อนจาก อาจารย์ยังพูดว่า หวังว่าครั้งหน้าคงได้กินข้าวและหาอะไรคุยสนุกๆ อย่างนี้อีก

เสียดายที่ไม่มีโอกาสนั้นแล้ว แต่ก็ไม่เสียใจ เพราะ ไม่ว่าจะมีโอกาสนั้นหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ และการปฏิบัติต่อพวกเราดั่งครูกับศิษย์ และระหว่างความเป็น colleague นั้นสำคัญที่สุด

อาจารย์ลิขิตกลับมามีบทบาทในฐานะนักวิชาการประชาธิปไตย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์กระแสที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างทรงพลังที่สุด โดยเฉพาะจากจุดยืนทางวิชาการและความรู้ของรัฐศาสตร์กระแสหลัก ที่ปกป้องประชาธิปไตย และสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
หลายครั้งที่อาจารย์ดูอิดโรย แต่ไม่เคยปริปากว่าเหนื่อย และยังสู้ต่อไปสักตั้งหนึ่ง อาจารย์สู้แต่สังขารของอาจารย์ร่วงโรยตามวัยและความเจ็บป่วยจะที่มาเยือน แต่อาจารย์ยังคงสู้ แต่สู้กับโรคภัยของตนเองด้วย

หลับให้สบายนะครับ อาจารย์ ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์ไปสู่สุขคติ RIP

ส่วน ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความอาลัยผ่านเฟซบุ๊กว่า
อาจารย์ลิขิต ธีรเวคินเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้อ่านเขียนด้านการเมืองไทย อาจารย์สอนหนังสือได้สนุกสนาน ย้ำให้อ่านงานพื้นฐานให้ดี เป็นนักวิชาการที่เแสดงความเห็นแล้วมีความน่าเกรงขาม ดังคำโบราณว่า ความรู้ทำให้องอาจ

ทุกวันนี้ยังมีตำราอาจารย์อยู่ เมื่อใดที่เตรียมสอนเรื่องการเมืองไทยก็หยิบมาดูอยู่เนืองๆ

ในสมัยนั้นอาจารย์มีธุระมากมาย แต่ไม่เคยขาดสอน และเราตื่นเต้นทุกครั้งที่จะเข้าเรียน เพราะอาจารย์เล่าเรื่องได้สนุกสนาน มีมุขตลกให้เราได้ลืมตาตื่น

ในยามที่การเมืองรุ่งโรจน์ อาจารย์ก็เข้าร่วมการเมือง แต่เสียดายที่ช่วงเวลานั้นช่างแสนสั้น อาจารย์โดนมรสุมการเมืองติดอยู่กับบ้านเลขที่ 111 ทั้งๆ ที่ได้ยื่นใบลาออกจากกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นแล้ว

ในหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ยังคงยืนยันในหลักการทางวิชาการอย่างหนักแน่น แม้จะทำให้อาจารย์ถูกมองว่าอยู่อีกฝั่งหนึ่งก็ตาม

ผมเพิ่งได้พบและทานข้าวเที่ยงกับอาจารย์เมื่อต้นปีกับเพื่อนพี่น้องหลายคนที่งานสัมมนาของภาครัฐประศาสนศาสตร์ ศิลปากรในเพชรบุรี ได้ความรู้จากอาจารย์มากมาย อาจารย์เองก็ไม่มีท่าทีว่าป่วย นอกเสียจากว่าต้องรีบเดินทางไปธุระต่อ

ผมยังจำใบหน้าอาจารย์ที่นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เมื่อเห็นลูกศิษย์และเพื่อนฝูงเอ่ยถึงงานของแก และหลังการอภิปรายของพวกเราผมได้มีโอกาสถามสิ่งที่สงสัยค้างคาในทางการเมืองมานานหลายเรื่อง

เมื่อวันก่อนไปเยี่ยมอาจารย์ รู้สึกเหมือนอาจารย์กำลังต่อสู้ และแอบหวังว่าอาจารย์จะเอาชนะโรคร้ายได้

อาจารย์คงเหนื่อยและเพลียเกินไป

กราบลาอาจารย์ครับ

ศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image