‘ตรีนุช’ ย้ำแยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่บังคับเด็กรักชาติ แต่เปลี่ยนกระบวนการเรียน

‘ตรีนุช’ ย้ำแยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่บังคับเด็กรักชาติ แต่เปลี่ยนกระบวนการเรียนให้เด็กสนุก-เข้าใจการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการดำเนินงาน ปี 2566 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักรู้เรื่องความรักชาติ มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ที่ประชุม กพฐ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” และพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ที่ประชุม กพฐ.ไปพิจารณาว่า การเรียนต่อไปจะไม่ใช่การท่องจำ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัว เข้าใจบริบทเหตุการณ์ต่างๆ ว่าที่ผ่านมาบรรพบุรุษของเราผ่านช่วงเวลาวิกฤตต่างๆ มาได้อย่างไร และครูจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ โดยครูอาจจะใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และสื่อต่างๆ ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ สนุก และรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ

“ต่อไปเราจะเปลี่ยนกระบวนการเรียนประวัติศาสตร์ ให้เด็กสนุก ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้เด็กรักชาติ และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในอนาคต ดังนั้น วันนี้เราจะต่อยอดการเรียนรู้อย่างไร ให้เด็กรู้ว่าที่ผ่านมาบรรพบุรุษของเราผ่านอะไรมาบ้าง มีอะไรที่ผิดพลาด มีอะไรที่สำเร็จบ้าง เพื่อให้เด็กสามารถไปต่อยอด เป็นอนาคตของชาติที่มีความตระหนักรู้ความเป็นชาติ ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาชาติ ทั้งนี้ ได้มอบให้ที่ประชุม กพฐ.ดูแนวทางในการพัฒนาครู และการใช้สื่อต่างๆ ให้ทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งคิดว่าต่อไปจะต้องมีการอบรมครูสอนประวัติศาสตร์ ส่วนต่อไปครูที่บรรจุใหม่จะต้องมีครูเอกประวัติศาสตร์หรือไม่ ได้มอบหมายให้ ก.ค.ศ.ไปพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังคนแล้ว ”น.ส.ตรีนุชกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งนี้ มีกระแสท้วงติงมาว่า การเรียนประวัติศาสตร์ที่มุ่งให้รักชาตินั้น อาจจะเป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ เพราะการเรียนประวัติศาสตร์ควรจะมุ่งให้เด็กคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถามได้ เข้าใจบริบทต่างๆ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน วันนี้กระบวนการเรียนประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนไป โดยจะทำอย่างไรให้กระบวนการเรียนรู้สนุกมากยิ่งขึ้น เราไม่ได้บังคับว่าให้เด็กไปทางไหน แต่วิชาประวัติศาสตร์จะทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์

Advertisement

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ส่วนที่มีความกังวลว่าเมื่อแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นรายวิชาเฉพาะ จะเพิ่มเวลาเรียนทำให้เด็กเรียนหนักขึ้นหรือไม่ การแยกวิชาประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เพราะต้องการออกแบบโครงสร้างการเรียนให้มีความชัดเจนมากขึ้น แต่เวลาการเรียนยังเท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นตัวเชื่อมโยงอดีตสู่อนาคต เชื่อมโยงทั้งมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม หน้าที่พลเมือง ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์จะเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการเรียนที่จะทำให้เด็กได้เรียนว่าที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรบ้าง และต่อไปการพัฒนาในอนาคตหน้าที่ของตนเป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image