บอร์ด กพฐ.ไฟเขียวแยก ‘ประวัติศาสตร์’ เป็นวิชาพื้นฐาน เล็งเสนอ ‘ตรีนุช’ ออกประกาศสัปดาห์นี้

บอร์ด กพฐ.เห็นชอบแยกประวัติศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน เล็งเสนอ ‘ตรีนุช’ ออกประกาศ ศธ.สัปดาห์นี้

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอ โดยขั้นตอนต่อไป สพฐ.จะจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณาลงนามต่อไป การแยกวิชาประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ไม่ได้เพิ่มชั่วโมงเรียน ไม่ได้เพิ่มภาระผู้เรียนและครู เพียงแต่จะจัดการเรียนประวัติศาสตร์ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คณะกรรมการ กพฐ. หารือร่วมกันเห็นว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ควรปรับให้มีการเชื่อมโยงกับหน้าที่พลเมือง และสาระวิชาการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย ซึ่งต่อไป สพฐ.จะไปจัดรายละเอียดการปรับปรุงหลักสูตรเนื้อหาให้มีความเหมาะสม ครอบคลุม ทันสมัย และเชื่อมโยงกับสาระวิชาอื่นๆ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เพราะวันนี้ทุกคนต่างพูดกันว่าอยากให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ต้องการสร้าง Soft Power ที่มาจากวัฒนธรรมประเพณีดีๆ ของประเทศ การที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องเรียนรู้จากอดีตว่าเรามีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์อะไรบ้างที่ดีงาม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากจะมาปรับเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันควรจะต่อยอดอย่างไร และเชื่อมอย่างไร เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจที่สามารถนำวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี อาหารดีๆ หรือทรัพยากรดีๆ ในอดีตมาปรับปรุงเข้ากับปัจจุบัน จึงต้องนำวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนสามารถตระหนักได้ว่าประวัติศาสตร์สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้ทุกศาสตร์

นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การแยกวิชาประวัติศาสตร์ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่ไม่เห็นด้วย เราต้องสร้างความเข้าใจ และรับฟังความเห็นมาปรับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ควรนำวิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ เพราะการสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ นั้น ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องมาเรียนแบบใหม่ ครูต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอนใหม่ ให้สอดรับกับสิ่งที่เราต้องการ คือ อยากเห็นเด็กทุกคนในชาติมีความภาคภูมิใจ รักหวงแหนบ้านเกิด แผ่นดิน บ้านเกิดเมืองนอนของตน และแสวงหาวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีต เพื่อมาต่อยอดในอนาคต

“คาดว่า จะเสนอ (ร่าง) ประกาศ ศธ. เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.​ลงนามภายในสัปดาห์นี้ ระหว่างนี้ สพฐ.จะเตรียมตัวปรับหลักสูตร ตัวชี้วัด ให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2567 ระหว่างนี้ทำความเข้าใจกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครองด้วย” นายอัมพรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image