รายงานการศึกษา : ดัน ‘วัฒนธรรม’ สู่ ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ รีสตาร์ตประเทศ..พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

รายงานการศึกษา : ดัน ‘วัฒนธรรม’ สู่ ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ รีสตาร์ตประเทศ..พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เปิดศักราชใหม่ปี 2566 อย่างเป็นทางการ ย้อนดูผลงาน “วัฒนธรรม” ปีเสือไฟ 2565 ภายใต้การนำ ของรัฐมนตรีติ๊ก อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งนั่งกุมบังเหียนเข้าสู่ปีที่ 4 แม้ผลงานไม่ร้อนแรง แต่ก็ไม่ขี้เหร่มากนัก…

ส่วนหนึ่งอาจเพราะประเทศเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งลุกลามไปทั่วโลก งานวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ที่ถือเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” สำคัญ ถูกใช้เป็นแกนหลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ นอกจากดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการยกระดับวัฒนธรรมไทยสู่สากล

ผลงานที่ค่อนข้างโดดเด่น ล่าสุดในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค 2022 วธ.ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานในการจัดเตรียมของที่ระลึก สำหรับผู้นำ และคู่สมรสที่เข้าร่วมประชุม รวมถึง จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งการบรรเลงบทเพลงโดยวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ ขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงไทย เพลงสากล และเพลงร่วมสมัย การแสดง 4 ภาค อาทิ การฟ้อนร่ม หน้ากากผีตาโขน ฟ้อนภูไท เซิ้ง ถือบั้งไฟ เชิดพญานาค โนรา การแสดงโขน ฯลฯ

ถือเป็นการหยิบ “ซอฟต์เพาเวอร์” หลายๆ ตัวที่โดดเด่นของไทย ให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกได้ไม่น้อย ทั้งยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย

Advertisement

ขณะเดียวกันยังเร่งส่งเสริม และรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยเตรียมพร้อมส่ง “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เข้าสู่การพิจารณาขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ปลายปี 2566

ตามมาด้วย “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งจ่อคิวเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโกในปี 2568 และปีนี้ ยังเห็นชอบให้ “ผ้าขาวม้า” เป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่เตรียมเสนอขึ้นบัญชีกับยูเนสโกในลำดับถัดไป …

รวมถึง ยังเห็นชอบการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำปี 2565 อีก 14 รายการ ดังนี้ สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ตำนานนางผมหอม, ตำนานหลวงพ่อพระใส สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล ได้แก่ แห่นกบุหรงซีงอ, ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ สาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ บ่อเกลือ นาเกลือ น้ำผักสะทอน สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ผ้าไหมหางกระรอก โคราช, ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์, ผ้าโฮลสุรินทร์, เมรุลอย การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ การเส็งกลองกิ่ง, การเล่นโหวด และเรือบก

Advertisement

คาดว่าแต่ละรายการ จะถูกเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโกในลำดับต่อไป

โดยในปี 2566 วธ.ชูธง Restart ประเทศไทย ขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และสังคมสู่ความมั่นคง และยั่งยืน …

นายอิทธิพลได้กล่าวหนึ่งในวันคล้ายวันสถาปนา วธ.เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ว่าการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปี 2566 ปรับบทบาทจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ มีเป้าหมายการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม คือ Restart ประเทศไทย ขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ตามนโยบาย “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคง และยั่งยืน” ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และประเทศชาติ ทั้งมิติทางสังคม และเศรษฐกิจ

“บทบาทงานวัฒนธรรมจะต้องมีการตอบโจทย์สถานการณ์โลกในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พัฒนางานวัฒนธรรมผ่านการใช้สื่อดิจิทัล ปรับโฉมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 การขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย BCG Model โดยคงไว้ซึ่งคุณค่า และเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ อาทิ การส่งเสริมเศรษฐกิจวัฒนธรรม วัฒนธรรมไทยในเวทีโลก การประกาศขึ้นทะเบียนด้านวัฒนธรรมในกรอบยูเนสโก เป็นต้น” นายอิทธิพลกล่าว

สวนทางกับความเห็นของ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536 ที่มองว่าผลงานของ วธ.ตลอดปี 2565 ยังไม่เข้าตามากเท่าที่ควร จากการติดตามเร่งรัด การทำงานของ วธ.ตามหลักพื้นฐาน 3 ประการ คือ การส่งเสริมวัฒนธรรมรากฐาน การส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นฐาน และการส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิฐาน ซึ่ง วธ.ดำเนินการไปในสองส่วน คือ การส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นฐาน และภูมิฐาน โดยนำสิ่งที่มีอยู่แล้วดำเนินการยกย่อง เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก

แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือการส่งเสริมวัฒธรรมรากฐาน ซึ่งถ้าไม่มีการประชุมผู้นำเอเปก ก็อาจจะดูเหมือนว่า วธ.ยังทำงานเหมือนเดิม ไม่ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องงวัฒนธรรมมากเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากนัก ยกตัวอย่างเช่น *เอ็มมานูเอ็ล มาครง* ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเข้าร่วมประชุมเอเปค ให้ความสนใจกับศิลปะป้องกันตัวอย่างมวยไทย ถึงขั้นเดินทางไปชมด้วยตาตนเองที่เวทีมวยราชดำเนิน แวะชิมอาหารสตรีทฟู้ดที่เยาวราช เป็นต้น หรือกระทั่งจีนเอง ก็ยังนำเพลงไทยไปแปลงเป็นภาษาจีนอีกด้วย ทั้งหมดนี้เพราะเขาประทับใจในวัฒนธรรมของไทยที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่สิ่งที่ วธ.หยิบยกขึ้นมาพัฒนาต่อยอด

ปี 2566 อยากให้ วธ.เน้นในส่วนนี้ให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นวัฒนธรรมของไทยจะถูกเด็ดยอด นำไปผลิต แล้วส่งกลับมาขายคนไทย เพราะ วัฒนธรรมไม่ใช่สินค้า แต่สินค้าต้องพึ่งพาวัฒนธรรม

อีกเรื่องที่ขอให้ วธ.เร่งดำเนินการ คือ การเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น ดนตรี ฯลฯ เพื่อให้เด็ก เยาวชน รวมถึง ประชาชนทั่วไปได้มีพื้นที่ในการแสดงออก

“ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้งานขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมหยุดชะงัก เพราะปรับตัวไม่ทัน แต่ตอนนี้ควรเร่งดำเนินการในส่วนที่ขาด เช่น การส่งเสริมรากฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ จริงๆ แล้วก็คือ พลังทางวัฒนธรรม ที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้เป็นพลังในการปฏิรูปวัฒนธรรมของมนุษย์ เพื่อลดความขัดแย้ง รุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” นายเนาวรัตน์กล่าว

นายเนาวรัตน์ทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพลังที่ดีอยู่แล้วใน 3 เรื่อง คือ พลังภูมิศาสตร์ ที่ดีติดอันดับต้นๆ ของโลก พลังของวิถีชีวิต ซึ่งพัฒนามาเป็นอาหาร และศิลปะการแสดงต่างๆ และพลังของคนไทย ซึ่งสร้างความประทับใจให้ชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม ความมีน้ำใจ ทั้งหมดนี้ วธ.ควรนำมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเพื่อให้วัฒนธรรมช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

สอดคล้องกับ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ที่มองว่าสิ่งที่ วธ.ทำส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเดิม เพียงแต่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมชุมชน ที่มีการดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ออกมาส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ค่อนข้างชัดเจน โดยจากการพูดคุยกับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่สะท้อนว่ากรุงเทพฯ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากนำวัฒนธรรมมาสร้างจุดเน้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

“อยากให้ วธ.ดำเนินการในส่วนนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึง ส่งเสริมความเป็นคนไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมเดิมที่สร้างความประทับใจให้ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม ความมีน้ำใจ และความโอบอ้อมอารี ตามแบบฉบับของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพราะหัวใจสำคัญของซอฟต์เพาเวอร์ สุดท้ายก็คือ ความเป็นคนไทยของเรานั่นเอง” นางกอบกาญจน์กล่าว

คงต้องจับตาดู ว่าปี 2566 วธ.จะเร่งเครื่อง พัฒนา “ซอฟต์เพาเวอร์” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กระเตื้องขึ้น ตามที่ถูกสังคมคาดหวังได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image