มติชนมติครู : ยุคทองของครูการงานอาชีพและเทคโนโลยี..ต้องมา !!

มติชนมติครู : ยุคทองของครูการงานอาชีพและเทคโนโลยี..ต้องมา !!

ในยุคที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนา จรณทักษะ หรือที่รู้จักกันดีกับคำว่า soft skills หลายประเทศทั่วโลกมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน แทนการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ โดยเราจะคุ้นชินกับคำว่า ทักษะศตวรรษที่ 21 (21st century skills) และ ทักษะข้ามสายพิสัย (transversal skills) ซึ่งมีอิทธิพลในวงการการศึกษาเกินกว่าทศวรรษในหลายๆ ประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย ฯลฯ

เค้าลางของความสำคัญในการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับตัวนักเรียน เริ่มจะมีแนวโน้มที่เด่นชัดขึ้น ภายหลังจากการเกิดสถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศ ที่แต่เดิมจะประกาศใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางชาติในปี 2567 เกิดขึ้นอย่างไล่เลี่ยในเวลาใกล้เคียงกัน

การสอนของครูที่เน้นให้นักเรียนได้ตัวเนื้อหาสาระ (content) ตลอดทั้งเทอม เพื่อสู่การวัด และประเมินผลนักเรียนในปลายภาคเรียน ด้วยแบบทดสอบที่เน้นการท่องจำที่มีมาเนิ่นนาน เริ่มไม่ใช่วิถีแห่งการพัฒนาความเป็นตัวตนของนักเรียน และความเป็นพลเมืองของชาติอีกต่อไป เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลในทุกด้านของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การมีความรู้อย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตให้รอดได้ในโลกยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องมีทั้งทักษะ เจตคติ และลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลที่ผสมผสานอย่างเข้ากัน เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน

จากที่เกริ่นมาข้างต้น ใครจะคิดว่า ยุคทองของครูในยุคนี้ และในอนาคต คือ ครูการงานอาชีพและเทคโนโลยี ทำไมล่ะ !! หลายคนคงมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องยกให้ครูการงานฯ ผู้เขียนจะอธิบายให้ฟังดังนี้ เราทราบกันดีในแวดวงการศึกษา ว่าการจัดการเรียนการสอนในอีกไม่กี่ปี กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิด “สมรรถนะ” ซึ่งสมรรถนะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ นักเรียนนำเอาความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้เรียนมา นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริงได้ เช่น นักเรียนสามารถพูดบอกทางแก่ชาวต่างชาติได้ การประดิษฐ์คิดค้นอะไรบางอย่าง เพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จะเห็นได้ว่า การสอนที่มุ่งเน้นการเกิดสมรรถนะ มีแนวโน้มที่นักเรียนสามารถนำเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริงได้ดีกว่าการสอนที่มุ่งเน้นเนื้อหาสาระ

Advertisement

ทีนี้ทำไมถึงกล่าวว่า “ยุคทองของครูการงานอาชีพและเทคโนโลยี…ต้องมา” ก็เพราะว่า การสร้างสรรค์ หรือการผลิตคิดค้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นผลมาจากงานฝีมือ งานช่าง งานแกะสลัก งานร้อยมาลัย งานใบตอง งานเย็บผ้า ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นผลสะท้อนจากการคิดอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจน ด้วยการใช้ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ มาผสมผสานกันอย่างขาดไม่ได้ เช่น หากมีทักษะเย็บผ้าดีมาก แต่ขาดความรู้เกี่ยวกับการประกอบตัดเย็บเป็นกระโปรงชุด หรือเป็นคนไม่ชอบงานเย็บผ้า ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ชุดสวยๆ ออกมาได้ เป็นต้น

ขณะนี้ในประเทศฟินแลนด์ ประเทศซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้าติดอันดับโลก เริ่มให้ความสำคัญกับวิชาที่เป็นงานช่างงานฝีมือต่างๆ แล้ว ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยใช้ชื่อวิชาว่า crafts subject ซึ่งถูกบรรจุเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรชาติของฟินแลนด์มาเป็นเวลายาวนาน และฟินแลนด์ก็คือฟินแลนด์อยู่วันยังค่ำ ได้จับจุดเด่นของการมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และการดีไซน์ต่างๆ ติดอันดับโลกของตัวเอง เช่น สถาปัตยกรรมแบบ อัลวา อัลโตะ, ผ้าลายมารีเมกโกะ, เครื่องแก้วอิตตาล่ะ ฯลฯ นำมาพัฒนาแนวคิดเรื่องของ Invention pedagogy สำหรับนักการศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ ครู และอาจารย์ในประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ด้วยตัวเอง นอกจากสมรรถนะเกิดอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังมีผลพลอยได้เป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับนักเรียน และโรงเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทีนี้เห็นแล้วหรือยังว่า ครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีมาจริงในยุคนี้ และต่อๆ ไป หากบ้านเราจับจุดให้ได้ หาวิธีการสนับสนุน ส่งเสริม และให้กำลังใจ ครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีที่เคยอยู่ในมุมมืด ได้ออกมาเดินเฉิดฉายบนพรหมแดงเหมือนกับครูวิชาอื่นๆ บ้าง ผู้เขียนรับรองว่า “Amazing Thailand” เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาอย่างจริงแท้แน่นอน หากคราวหน้าผู้เขียนมีโอกาส จะมานำเสนอแนวคิด Invention Pedagogy อย่างลึกซึ้งต่อไป เพราะแนวคิดนี้ใหม่ถอดด้ามจริงๆ ขอบอก !!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image