รายงานการศึกษา : กางข้อเรียกร้อง ‘เครือข่ายครูไทย’ ค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ’

รายงานการศึกษา : กางข้อเรียกร้อง ‘เครือข่ายครูไทย’ ค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ’

หมายเหตุ…เนื่องในโอกาส “วันครู” 16 มกราคม 2566 เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้จัดทำจดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับ เรื่อง “แก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ถึงสมาชิกรัฐสภา และเรื่อง “คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ฉบับที่ 1 เพื่อส่งถึงผู้เกี่ยวข้อง นำไปปรับปรุงแก้ไขตามข้อเรียกร้อง “มติชน” เห็นมีรายละเอียดน่าสนใจ จึงนำเสนอ

สำหรับจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ที่ ค.อ.ท.นำเสนอในวันครู มีสาระสำคัญดังนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 นั้น พบว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีข้อบกพร่องอีกมาก ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการนำสู่การปฏิบัติ จนทำให้ส่วนที่ดีของร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องล้มเหลวไปอย่างน่าเสียดาย

ทั้งนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วนทุกมิติ ไม่ร้อยรัด และขัดแย้งกันเอง เช่น ความบกพร่องในเนื้อหาสาระและรายละเอียดของกฎหมาย ที่ไม่ครอบคลุม สับสน ต้องตีความฟ้องร้องกันภายหลัง (มาตรา 4 นิยามศัพท์ไม่ครอบคลุม) เป็นกฎหมายที่เปิดเสรีให้บุพการี ผู้ปกครองจัดการศึกษาโดยอิสระ ไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งอาจเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และความเป็นเอกภาพของชาติไทย (มาตรา 11(2) มาตรา 13 วรรคสอง)

เป็นกฎหมายที่เอื้อให้เอกชน เข้ามาบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนของรัฐ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ และวิธีการใดควบคุม จะทำให้เอกชนเข้ามาแสวงหากำไรจากโรงเรียนของรัฐที่มีคุณภาพเพื่อเก็บค่าเล่าเรียนแพง (มาตรา 11 (4) (5)) เป็นกฎหมายที่มีความพยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานให้กับประชาชน เพื่อให้เข้าเรียนกับโรงเรียนเอกชนมากขึ้น (มาตรา 19 มาตรา 22 ของร่างเดิม ต้องไม่แปรญัตติกลับคืนมาอีก)

Advertisement

เป็นกฎหมายในอุดมคติที่ปฏิบัติไม่ได้ในสภาพจริง เช่น การกำหนดเป้าหมายเป็นรายละเอียดตามมาตรา 8 การกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นนิติบุคคล มีอิสระในการบริหารจัดการ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของสถานศึกษา และสภาพความเป็นจริงที่ยากต่อการปฏิบัติ (มาตรา 20 วรรคสี่ มาตรา 25 มาตรา 40 วรรคท้าย)

เป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำ แบ่งแยกของข้าราชการครูและบุคลากรทางศึกษา (มาตรา 41) ซึ่งเป็นการทำลายหลักความยุติธรรมในการออก พ.ร.บ.และเป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Principle) ที่ต้องไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักความเสมอภาค (Equality) ที่ปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน แต่ปฏิบัติแตกต่างกัน และในร่างมาตรา 41 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในมาตรา 26 และมาตรา 27

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ยังเป็นกฎหมายที่ไม่ให้ความสำคัญในการดูแล ส่งเสริม ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และประโยชน์อื่นใด (มาตรา 42) เป็นกฎหมายที่ไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ (มาตรา 88)

Advertisement

เป็นกฎหมายที่รวบอำนาจการบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง Singel Command (มาตรา 106) ที่ย้อนแย้งกับหลักการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง เพราะ Singel Command เป็นรูปแบบโครงสร้างที่เอื้อต่อการทุจริตเชิงนโยบายในกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุด เอื้อต่อระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้เกิดความล่าช้า และไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจบริหารแบบมีส่วนร่วม

และที่สำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาการอาชีวศึกษา จึงไม่มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา เป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.นี้ ทั้งที่ การศึกษาทั้ง 2 รูปแบบ มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพของคนเข้าสู่โลกของการแข่งขันในศตวรรษที่ 21

จาก ข้อบกพร่อง ทั้งหมดที่กล่าวมา ค.อ.ท.ที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรครูทั่วประเทศมากกว่า 300 องค์กร ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ได้โปรดพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

1.เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบารมีหยุดชี้นำ สั่งการ หรือวิธีการใดๆ ที่เป็นการบั่นทอนการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตของสมาชิกรัฐสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …

2.เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน หยุดแบ่งข้าง แบ่งขั้วทางการเมือง ขอให้ทุกท่านยืนเคียงข้างประชาชน โดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้ายของ พ.ร.บ.นี้ ที่ผลลัทธ์จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของชาติเป็นสำคัญ

3.เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.นี้ทุกข้อที่กล่าวมา ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดของการจัดการศึกษา

4.หากไม่ได้รับการแก้ไขเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 ค.อ.ท.พร้อมองค์เครือข่ายครูทั่วประเทศ จะยกระดับการคัดค้าน โต้แย้งร่าง พ.ร.บ.นี้ให้รุนแรงมากขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากทุกพรรคการเมือง ให้หยุดร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ให้ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 หากปล่อยให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านวาระที่ 3 ไปโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ ค.อ.ท.จะดำเนินการตามช่องทางรัฐธรรมนูญ และวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อหยุดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ ไม่ให้ออกประกาศใช้บังคับต่อไป และจะรวมพลังกับเครือข่ายองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ พิพากษา ส.ส.และพรรคการเมือง ที่ไม่ยอมแก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมาย ในวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว มาเป็นรัฐบาล เพื่อมาแก้ไข พ.ร.บ.นี้ในรัฐบาลใหม่ในสมัยต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ดีที่สุด ให้เหมาะสมกับกฎหมายปฏิรูปประเทศต่อไป

ขณะที่แถลงการณ์ ค.อ.ท.เรื่องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระบุว่า ตามที่ ค.อ.ท.ได้เรียกร้องให้ ส.ส.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้แก้ไข และเพิ่มเติม 12 เรื่องสำคัญ เพื่อให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อยกระดับสมรรถนะของผู้เรียนให้อยู่ในโลกแห่งความร่วมมือในอนาคตได้อย่างสมศักดิ์ศรี แต่จากการติดตามการพิจารณาของ ส.ส.เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2566 ได้พิจารณามาตรา 4 ซึ่งเป็นการให้ความหมายของนิยามคำสำคัญใน พ.ร.บ.แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่นำคำสำคัญหลายคำที่จำเป็นต้องให้ความหมายไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความ และความยุ่งยากต่อการปฏิบัติในอนาคต

มีการพิจารณาในมาตรา 8 เป้าหมายที่กำหนดสมรรถนะของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดให้มีสมรรถนะเดียวกันในแต่ละช่วงวัย โดยไม่คำนึงถึงทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล และทฤษฎีพหุปัญญา ซึ่งครูผู้สอนได้ใช้อยู่ในทุกวันนี้ ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลการพิจารณาทั้ง 2 มาตรา ที่ ค.อ.ท.เรียกร้องให้แก้ไข เพราะเป็นเรื่องสำคัญของการนำกฎหมายสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่รัฐสภาไม่ได้แก้ไข โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลที่ดีกว่าของผู้แปรญัตติ และสงวนความเห็นไว้

ในขณะที่การตอบคำถามของผู้ที่เป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ.กลับตอบคำถามไม่ชัดเจน ไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าที่ควร เมื่อผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ การพิจารณาในมาตราอื่นๆ ที่ ค.อ.ท.เรียกร้อง จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะไม่ได้รับการแก้ไขเช่นกัน จะทำให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมายที่จะสร้างปัญหาในอนาคตให้กับผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบวิชาชีพครู และความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะเป็น ผลงานชิ้นโบดำ ของรัฐบาล และรัฐสภาชุดนี้

ดังนั้น เพื่อหยุดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ไม่ให้ออกไปใช้บังคับ ค.อ.ท.พร้อมองค์กรครูทั่วประเทศ จึงพร้อมใจกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการแต่งชุดดำไปปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากรัฐบาล และรัฐสภา ว่าจะไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสมัยประชุมนี้

หากรัฐบาล และรัฐสภา ยังดันทุรังจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ ค.อ.ท.พร้อมองค์กรครูทั่วประเทศ จะยกระดับการคัดค้านขั้นสูงสุดต่อไป ทั้งนี้ เพื่อรอให้รัฐบาล และรัฐสภาในสมัยหน้า นำร่าง พ.ร.บ.นี้ไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยให้คงส่วนที่ดีของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ แล้วไปปรับปรุงส่วนที่บกพร่องตามข้อเสนอ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image