คาด กม.ศึกษาฯ คลอดไม่ทันรัฐบาลนี้ ‘เอกชัย’ ชี้พิจารณาช้า ทำเสียเวลาเปล่า 7 ปี ส.ปส.กช.ห่วง น.ร.เอกชนมีสิทธิด้อยกว่ารัฐ
รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ของรัฐสภานั้น คิดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะพิจารณาไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะจากที่ติดตามการพิจารณาของรัฐสภา พบว่าใช้เวลาพิจารณาช้ามาก เป็นการพิจารณาเป็นรายมาตรา หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้พิจารณา และประกาศใช้ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ จะส่งผลกระทบกับการศึกษาหรือไม่นั้น มองว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาจะเกิดขึ้นช้าลง และต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ 6-7 ปี นอกจากเสียเวลาแล้ว ยังเสียงบประมาณจำนวนมากในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย
“อย่างไรก็ตาม กรณีมีคนกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น เพราะมองแต่ประโยชน์ของตัวเอง กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองเคยได้ อาจจะไม่ได้ สิ่งที่ตัวเองเคยมี อาจจะไม่มี แค่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดไว้ว่างบของโรงเรียน ครูจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดสัดส่วนการใช้งบทั้งหมดด้วย เพียงแค่กำหนดลักษณะนี้ ก็มีคนไม่พอใจทันที มองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีข้อดีหลายข้อ ส่วนจุดด้อยก็มีบ้าง ค่อยๆ ปรับกันไป จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเป้าหมายคุณภาพนักเรียน คุณภาพการศึกษาของประเทศ และขอให้ละประโยชน์ส่วนตัว” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนได้ติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอย่างใกล้ชิด ถ้าคลอดไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะยังมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดเรื่องสิทธิของเด็กไทยไว้ แต่ไม่ระบุแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โรงเรียนเอกชนกังวลว่าเมื่อประกาศใช้แล้ว สิทธิของเด็กไทยจะเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนประสบปัญหามาตลอด เช่น ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนรัฐ และเอกชน ได้รับการอุดหนุนไม่เท่าเทียมกัน โดยรัฐได้รับเงินอุดหนุน 100% ขณะที่โรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุน 28% ทั้งที่โรงเรียนรัฐก็มีเด็กต่างด้าวเข้ามาเรียน แต่กลับได้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันมากกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นคนไทย เป็นต้น นอกจากสิทธิเด็กไทยแล้ว ครูไทยก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันด้วย
“คิดว่ากฎหมายฉบับใหม่ ควรกำหนดสิทธิของเด็ก และครูให้ชัดเจน ว่าเด็กไทย และครูไทย ต้องได้รับมาตราฐานเดียวกัน ไม่ควรแบ่งรัฐ และเอกชน หากกำหนดสิทธิของเด็ก และครูแบบกว้างๆ เมื่อถึงเวลาจัดทำกฎหมายลูกค่อยระบุให้ชัดเจน ท้ายที่สุดแล้วเด็กไทยกลุ่มหนึ่ง ที่เรียนในโรงเรียนเอกชน จะถูกมองข้ามเหมือนเดิม ทั้งนี้ ไม่อยากให้คิดว่าคนที่เรียนโรงเรียนเอกชนมีฐานะ เด็กบางคนต้องเรียนโรงเรียนเอกชนเพราะใกล้บ้าน หากเรียนโรงเรียนรัฐ อาจเสียค่าเดินทางจำนวนมาก จึงอยากให้ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ กำหนดสิทธิของเด็ก และครูไทยให้ชัดเจน ไม่แบ่งรัฐ และเอกชน” ดร.ศุกเสฎฐ์ กล่าว