รายงานการศึกษา : เปิดเวทีเยาวชนอาเซียน แข่งไอเดีย..สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

รายงานการศึกษา : เปิดเวทีเยาวชนอาเซียน แข่งไอเดีย..สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน

การจัดงาน PIM International Hackathon ครั้งที่ 2 สุดยอดเวทีเยาวชนระดับนานาชาติด้านความยั่งยืนในปีนี้ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนทั่วอาเซียน ได้ประชันไอเดียกันอย่างเข้มข้น เพราะมีทีมระดับมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยทั่วอาเซียน กว่า 220 ทีม มานำเสนอโปรโตไทป์โปรเจ็กต์ ภายใต้แนวคิด “Sustainable Well-being towards Zero-Green-Clean Economy” ประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ งานนี้จัดโดย วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเหล่าพันธมิตร

ไอเดียที่นำเสนอกันบนเวที ล้วนเป็นไอเดียที่มีจุดมุ่งหมายที่ดี ในการแก้ปัญหาสำคัญของโลกเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อาทิ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน การขจัดความหิวโหยและเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี ในที่สุดก็ได้ผลงานที่โดนใจคณะกรรมการหลากสัญชาติ

ธนาพันธ์ ธีรธาตรี

ผลงานชนะเลิศระดับมัธยมปลาย เป็นของ ทีม Eco-loop โรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ โดย ธนาพันธ์ ธีรธาตรี นักเรียนชั้น ม.5 สาย Business-Math หนึ่งในสมาชิกทีม เล่าว่า ไอเดียของทีมคือโปรโตไทป์ E1 เป็นพื้นที่คอนเทนเนอร์ และเรือนกระจก ที่นำระบบฟาร์มแมลงที่เป็นอาหารได้ และฟาร์มเพาะปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ มาผสมผสานรวมกัน เพื่อให้ทั้ง 2 ฟาร์มเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น การนำปุ๋ยจากฟาร์มแมลงไปใช้ในฟาร์มเพาะปลูก การนำของเสียจากฟาร์มเพาะปลูกมาใช้เป็นอาหารแมลง พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีพลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

Advertisement

ธนาพันธ์ ย้ำว่า ปัจจัยพื้นฐานการสร้างอนาคตของประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร อยากให้เพื่อนๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมสนใจเรื่องความยั่งยืน ตลอดจนโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน ร่วมกันช่วยสร้างสรรค์สังคม เพื่อคนเจเนอเรชั่นต่อๆ ไป

ณัฏฐ์นรี สุขสมบูรณ์

ขณะที่ผลงานชนะเลิศระดับมหาวิทยาลัย ตกเป็นของ ทีม Go Green จากการรวมตัวกันของนักศึกษาชาวไทย ชาวลาว และชาวกัมพูชา โดย ณัฏฐ์นรี สุขสมบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ คณะวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกทีม เล่าว่า ผลงานของทีมคือ แอพพ์พลิเคชั่น Go Green แอพพ์ซื้อขายอาหาร และวัตถุดิบอาหาร เช่น กลุ่ม Imperfect Plant หรือผลผลิตทางการเกษตรที่รับประทานได้ แต่อาจมีรูปร่าง หรือสีสันที่ไม่สวยงาม เช่น ผักที่มีรอยดำ จนไม่ผ่านการตรวจคุณภาพของห้าง โดยตัวแอพพ์จะช่วยเชื่อมเกษตรกร ร้านอาหาร ลูกค้า ตลอดจนมูลนิธิ ที่จะนำอาหารไปบริจาคเข้าด้วยกัน ซื้ออาหารเหล่านั้นระหว่างกันได้ เพื่อช่วยลดปัญหาของเสียจากอาหาร

Advertisement

ณัฏฐ์นรี ทิ้งท้ายว่า ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์ ไม่ใช่เรื่องที่คนตัวเล็กๆ ทำไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องเกินตัว ทุกคนสร้างความยั่งยืนได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ทุกองค์กรทุกภาคส่วนต้องเริ่มทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ CSR เก็บขยะ โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งจากภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะล้นโลก ปัญหาความยากจน

เพราะหากไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนกันตั้งแต่ตอนนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า โลกอาจจะไม่เหมือนเดิม และไม่สามารถส่งต่ออนาคตที่ดีให้แก่คนเจเนอเรชั่นต่อไป

ทีม Eco-loop

ทีม Go Green

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image