คณบดีท่องเที่ยวฯ มธบ.แนะ 3 กลยุทธ์เสริมทัพธุรกิจโรงแรม รับมือชาวต่างชาติแห่เที่ยวล้างแค้น

คณบดีท่องเที่ยวฯ มธบ.แนะ 3 กลยุทธ์เสริมทัพธุรกิจโรงแรม รับมือชาวต่างชาติแห่เที่ยวล้างแค้น หลังจีนเปิด ปท.

ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยถึงแนวทางในการแก้ไขรับมือการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในไทยจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน เพื่อให้พี่น้องผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้ฟื้นตัวเอง ได้แก่ พนักงานทัพเสริม สร้างเครือข่ายท้องถิ่น ใช้ภาษาจีนและเทคโนโลยีเพิ่มทักษะ เป็นกลยุทธ์เสริมทัพวิกฤตขาดแรงงานด้านการท่องเที่ยวและบริการ หลังจีนอนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์ให้มาเที่ยวไทยได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี พังงา และสุราษฎร์ธานี เกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานนับหมื่นคนในการรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของผู้ประกอบเองที่จะต้องกอบกู้รายได้ให้กลับมาหลังพ้นยุคโควิด-19 โดยเชื่อกันว่ารอบนี้นักท่องเที่ยวจีนจะ “เที่ยวล้างแค้น” (Revenge Travel) เกิดมหกรรมเที่ยวทั่วไทยครั้งใหญ่ แบบเที่ยวให้หนำใจ

“กระแสขอเที่ยวแก้แค้น น่าจะกลับมาแรง รอบนี้นักท่องเที่ยวจีนอาจขึ้นไปถึง 200% เลยทีเดียว ไฟลต์มาจากหลายมณฑล เพราะก่อนเกิดโรคโควิด-19 เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 40 ล้านคนต่อปีมาแล้ว อีกไม่นานหลังจากนี้ ยอดนักท่องเที่ยวทุกชาติที่เข้ามาไทย อาจแตะไปถึง 70-80 ล้านคนต่อปี ก็เป็นไปได้ ขณะที่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม โดยที่สามารถรับมือ และแก้ไขให้ทัน โดยการทำ 3 แนวทางหลักๆ คือ พนักงานทัพเสริม สร้างเครือข่ายท้องถิ่น ใช้ภาษาจีนและเทคโนโลยีเพิ่มทักษะ” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว

ผศ.ดร.มณฑกานติกล่าวอีกว่า 3 แนวทางวิธีการแก้ไขรับมือการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่ 1.พนักงานทัพเสริมทั้งแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงขาดแคลนแรงงาน ที่นักท่องเที่ยวจะมากันเยอะ เช่น สงกรานต์ไทย วันแรงงานของจีน วันชาติจีน ซึ่งอาจใช้การจ้างพนักงานแบบไม่ประจำ จะเป็นรายวัน หรือรายชั่วโมง แบบที่ต่างประเทศทำ ยืดหยุ่นทั้งวัน และเวลา บางครั้งอาจจ่ายเรตมากหน่อย แต่ใช้แค่ช่วงพีค ยิ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนโรงแรมลาออกไปประกอบอาชีพใหม่เยอะมาก ขายของออนไลน์ ทำธุรกิจส่วนตัว คนเหล่านี้ก็อาจกลับมาช่วยได้หากมีการจ้างงานแบบไม่ประจำ หรือจ้างแบบกำหนดผลัดการทำงานได้ นอกจากนี้ อยากให้ผู้ประกอบการมองถึงเรื่องการทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ทำหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ เรียน และทำงานไปด้วยกัน และในรูปแบบสหกิจศึกษา

ผศ.ดร.มณฑกานติกล่าวว่า 2.สร้างเครือข่ายท้องถิ่น การจะได้มาของบุคลากรดังกล่าว ทำได้อีกทางโดยการจัดงานนัดพบแรงงาน รวมถึง การสร้างเครือข่ายท้องถิ่นทั้งในส่วนของผู้ประกอบการกับสถานศึกษา หรือกับสมาคมท่องเที่ยว และสมาคมโรงแรมจังหวัดนั้นๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่รวบบรวม รายชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ สามารถประสานงานได้ทันทีที่ขาดแคลน ซึ่งไม่เพียงได้บุคลากรที่มีประสบการณ์ แต่ยังได้กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย เพราะยุคนี้ 1 อาชีพไม่เพียงพอ ต้อง 2-3 อาชีพสำรองยามฉุกเฉิน แนวคิดหนึ่งคนมีหลายอาชีพเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมในเมืองท่องเที่ยว

Advertisement

ผศ.ดร.มณฑกานติกล่าวอีกว่า และ 3.ใช้ภาษาจีนและเทคโนโลยีเพิ่มทักษะ ผู้ประกอบการต้องเพิ่มทักษะด้านภาษาจีนในกลุ่มพนักงานโรงแรมให้มากขึ้น เน้นคำศัพท์มาตรฐาน เน้นคำพูดเพื่ออธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องใช้ประจำ หรือนำป้ายดิจิทัล และเทคโนโลยีแปลภาษามาใช้ในองค์กร เทคโนโลยีจำพวกสื่อดิจิทัลสามารถช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเขาบริการตัวเองได้ เข้าใจสิ่งที่เราเสนอให้ ทำให้ไม่ต้องใช้คนเยอะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการพ้นวิกฤตขาดแคลนแรงงานในช่วงเร่งด่วนนี้ไปได้

“ท้ายที่สุด สิ่งที่อยากจะเสริมคือ อยากให้ภาครัฐ รัฐบาล ร่วมให้งบสนับสนุนในการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นกับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะเรื่องการท่องเที่ยวนี้ นำรายได้เข้าประเทศ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้ง ถ้าให้เอกชนจัดทำเอง กลุ่มผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยก็ทำเรื่องการอบรมพัฒนาคนไม่ไหว” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image