‘ศธ.-พระปกเกล้า’ จับมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, Ms. Starla Sanchez Assistant Attach สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา (the US HSI), ผศ.รัชด ชมภูนิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักศึกษากลุ่มสิงโต หลักสูตร ปนป.12 สถาบันพระปกเกล้า ลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงในโครงการ “Stop Online Child Sexual Abuse” ภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรภาคี คือ นักศึกษากลุ่มสิงโต หลักสูตร ปนป.12 สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) EducationUSA Thailand บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) องค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.) และสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มีหลักสูตรเสริมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และวิธีการป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย เช่น การหลอกลวงให้ถ่ายคลิป หรือสตรีมมิ่งร่างกายโป๊เปลือย แล้วนำไปข่มขู่แบล๊กเมล์ หรือบังคับให้เข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ เป็นต้น ทั้งนี้ นักศึกษากลุ่มสิงโต ปนป.12 ได้ส่งมอบสื่อชุด #NoGoTell: Stop Online Child Sexual Abuse เรื่อง เคสสุดท้ายให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรม หรือประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางเพศออนไลน์ และวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยบอกเล่าผ่านน้ำเสียงของคุณแม่ ซึ่งสูญเสียลูกชายที่เป็นทั้งความหวังและความรักไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้าผ่านสื่อโซเชียลมิเดียให้ถ่ายคลิปทางเพศ และถูกแบล๊กเมล์จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้นำสื่อชุดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสันติสุขในสังคมต่อไป (สามารถรับชมสื่อดังกล่าวผ่านทาง KPI Channel ที่ https://youtu.be/_2tMHIGve9k )

Advertisement

น.ส.ตรีนุชกล่าวด้วยว่า การแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต ภายใต้โครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย เป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศธ.ให้ความสำคัญ นับแต่การจัดตั้งโครงการความปลอดภัยสถานศึกษาหรือ MOE Safety Center เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขและจัดการปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสุ่มเสี่ยง ไม่มีภูมิคุ้มกัน อันอาจนำไปสู่การตกเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การจัดทำหลักสูตรอบรมให้แก่เด็กและเยาวชน และการจัดทำสื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงภัยอันตราย ตลอดจนความรู้เมื่อตกเป็นผู้เสียหายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นช่องทางที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกละเมิดทางเพศนับแต่ต้นเหตุ

นางจตุพรกล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ จึงได้ดำเนินการปกป้อง คุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กและเยาวชน โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้เกิดเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย (Thailand Safe Internet Coalition) เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์อย่างแท้จริง อีกทั้งการจัดตั้งศูนย์ COPAT เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาระบบคุ้มครอง และสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม

Ms. Starla Sanchez สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม แต่สำหรับเด็กและเยาวชนแล้วอาจจะเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ คือ อาจสุ่มเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะตกเป็นผู้เสียหายผ่านทางการหลอกลวงในโลกอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การที่วันนี้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันแสดงเจตจำนงในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ในเด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก และขอขอบคุณที่ให้โอกาสสหรัฐอเมริกาในการร่วมงานกับทุกหน่วยงานในโครงการดังกล่าวนี้ และโครงการต่อๆ ไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image