ชี้จุดอ่อน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ‘แนวทาง-กลุ่มเป้าหมาย-ครูนอกระบบ’ ไม่ชัด

ชี้จุดอ่อน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ‘แนวทาง-กลุ่มเป้าหมาย-ครูนอกระบบ’ ไม่ชัด กศน.เร่งตั้งทีมวาง ‘โครงสร้างกสร.-หลักสูตร’

นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กศน.เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 เมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับตั้งแต่วันประกาศ หรือวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 จะทำให้ กศน.ถูกยกฐานะจากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้ อยู่ระหว่างสำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ และเสนอถ่ายโอนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน รวมถึง ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังทั้งหมด จาก สป.ศธ.ให้ไปขึ้นกับ กสร.พร้อมกับประสานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อออกแบบ และแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) กสร.อีกทั้ง ขอแนวปฏิบัติกับ ก.ค.ศ.ว่าถ้ายังไม่มี อ.ก.ค.ศ.กสร.จะดำเนินการเรื่องบริหารงานบุคคลอะไรได้บ้าง และประสาน สป.ศธ.เพื่อออกแบบ และแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กสร.นอกจากนี้ ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำหลักสูตร โดยจะเปลี่ยนเป็นหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ตามคุณวุฒิแทนหลักสูตรเดิม ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว

“สำหรับโครงสร้างของ กสร.นั้น ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาจัดทำกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการยกฐานะขึ้นมาเป็น กสร.จะใช้โครงสร้างของ กศน.เดิมไปพลางก่อน เพราะเรื่องนี้ต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ และครอบคลุมที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปการศึกษา จากเดิมที่เราจัดการศึกษาโดยยึดหลักสูตร จะเปลี่ยนเป็นจัดการศึกษาโดยเอาความต้องการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21” นายคมกฤช กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ข้อดีของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ จะทำให้พื้นที่ของเด็กเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาประมาณ 9 แสนคน กับผู้ใหญ่ที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน มีโอกาสได้รับการศึกษา พัฒนาตนเอง และเข้าถึงการมีวุฒิการศึกษาที่ง่ายขึ้น โดย กสร.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1.การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ซึ่งการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบนี้ ผู้เรียนสามารถสะสมความรู้เพื่อเอามาเทียบโอนขอวุฒิการศึกษาได้ สิ่งที่ตามมาคือจะมีธนาคารหน่วยกิต ทำให้รอยต่อการศึกษาไม่แยกส่วนกัน นอกจากนี้ ยังกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ไปในระดับพื้นที่มากขึ้น คือมีศูนย์การเรียนรู้ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล อีกทั้ง มีระบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาง่าย สามารถเรียนตามความสนใจ และความต้องการของตนได้

Advertisement

“สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่ กศน.ยกระดับเป็น กสร.มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่กังวลว่าความเป็นกรมในระบบราชการ จะทำให้ กสร.แข็งตัวในระบบราชการหรือไม่ เพราะ กสร.มีหน้าที่ชัดเจน คือต้องจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สะดวก และรวดเร็ว เมื่อเจอระบบราชการที่แข็งตัว จะไปกดทับความยืดหยุ่น และจะทำให้จัดการศึกษาเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ได้ยากขึ้นหรือไม่ อีกหนึ่งจุดอ่อนคือกฎหมายใหม่ ส่วนใหญ่จะเน้นยกระดับ กศน.ขึ้นเป็น กสร.แต่สิ่งที่หายไปคือกลุ่มเป้าหมาย ว่าต่อไป กสร.จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายอย่างไร และมีแนวทางจัดการศึกษากลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอย่างไร” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า อีกทั้ง กลุ่มครูนอกระบบ ในกฎหมายใหม่พูดถึงน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญมากที่สุด ควรจะทำให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังมีข้อดีคือ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นครู ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ อาจจะเป็นคนในพื้นที่มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้ที่มีความรู้ด้านต่างๆ ที่อยากสอนหนังสือ แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เข้ามาถ่ายทอดความรู้” นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image