‘สพฐ.’ ยันไม่มีเป้าหมายยุบ ร.ร.เล็ก หลัง ‘ครม.’ ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงใหม่

‘สพฐ.’ ยันไม่มีเป้าหมายยุบ ร.ร.เล็ก หลัง ‘ครม.’ ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงใหม่

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอนั้น กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดิมมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 บังคับใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ออกมา ก็เกรงว่าระเบียบดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องปรับแก้จากระเบียบกระทรวง มาเป็นกฎกระทรวงตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวให้กฤษฎีกา พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงนามก่อน ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการต่อไป
นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวจะมีความเปลี่ยนแปลงจากระเบียบเดิมในเรื่องการขอยุบสถานศึกษา ซึ่งเดิมจะต้องเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณามาเป็นเสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ให้ความเห็นชอบได้เลย เป็นการกระจายอำนาจ ลดขั้นตอนให้กระบวนการทุกอย่างจะจบลงที่จังหวัด

“การออกกฎกระทรวงนี้ มีการเพิ่มในเรื่องของการยุบสถานศึกษาเข้าไปนั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้ยุบโรงเรียนขาดเล็ก เพราะขณะนี้ สพฐ.เน้นในเรื่องการให้เด็กมาเรียนร่วมกัน โรงเรียนที่มีทรัพยากรพร้อม ช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด” นายอัมพรกล่าว
ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า เท่าที่ดูรายละเอียดกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ได้มีความแตกต่างจากระเบียบเดิม แต่เป็นการกระจายอำนาจไปให้จังหวัด ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะปัจจุบันโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป อัตราการเกิดลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่โรงเรียนระดับขั้นพื้นฐานเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัว แม้แต่มหาวิทยาลัยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“สถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนไป มีโรงเรียนขนาดเล็กเกิดมากขึ้นทุกวัน เพราะจำนวนเด็กวัยเรียนลดลง ดังนั้นการบริหารจัดการจึงต้องมีความเปลี่ยนแปลง ต้องปรับมุมมองในเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นการส่งเสริมในเรื่องการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า โดยให้เด็กมาเรียนร่วมกันได้ในโรงเรียนเดียว เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยุบเลิกโรงเรียนที่ไม่มีการเรียนการสอน เพื่อประหยัดงบประมาณ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นต้องคงอยู่ เช่น โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เกาะ หรือภูเขาสูง ก็ทำการส่งเสริมสนับสนุนทั้งงบประมาณ และครู เพื่อให้โรงเรียนเหล่านั้น สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ” นายอดิศรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image