ชี้เกณฑ์สอน 2 ปี ขอย้ายได้เหมาะสม ‘ประวิต’ ย้ำเปล่าเอาใจ พ้น ‘ครูผู้ช่วย’ แล้ว

ชี้เกณฑ์สอน 2 ปี ขอย้ายได้เหมาะสม ‘ประวิต’ ย้ำเปล่าเอาใจ พ้น ‘ครูผู้ช่วย’ แล้ว โบ้ย ‘ร.ร.เล็ก’ ขาดแคลนเหตุสอบบรรจุช้า

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า กรณีที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ภูเขาสูง หรือตามเกาะแก่งต่างๆ กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขาดแคลนครูผู้สอน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัด ศธ.ซึ่งเดิมกำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูแล้ว 4 ปี สามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้ มาเป็นสามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้ภาย 2 ปี นับถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้ายนั้น ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ระยะเวลาการขอย้าย ว่าจะเป็น 2 ปี หรือ 4 ปี แต่อยู่ที่การจัดสอบบรรจุครูล่าช้า ทำให้ไม่สามารถบรรจุครูใหม่ไปทดแทนอัตราว่างได้ทัน

“ทั้งนี้ เกณฑ์การขอย้ายดังกล่าว ใช้เป็นปีแรก ดังนั้น อาจมีปัญหาอยู่บ้าง ถ้าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รู้ปัญหาดังกล่าวแล้ว จัดช่วงเวลาการสอบให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การขอย้าย อนาคตก็เชื่อว่า จะไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีก” รศ.ดร.ประวิต กล่าว

รศ.ดร.ประวิตกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์นี้ไม่ได้ออกมาเพื่อเอาใจครู แต่อยากให้มองสองมุม เพราะครูที่ต้องไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ก็อยากย้ายไปในโรงเรียนที่ใหญ่กว่า หรือย้ายกลับภูมิลำเนา เพื่อดูแลครอบครัว พ่อแม่ อย่างข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขอย้ายได้ภายใน 6 เดือน แต่ข้าราชการครูกลับต้องติดอยู่กับที่เดิมเป็นเวลาถึง 4 ปี ครูที่ได้อยู่โรงเรียนในเมือง โรงเรียนประจำอำเภอ หรือได้บรรจุใกล้ภูมิลำเนาของตัวเองอยู่แล้ว อาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ครูใหม่ที่ต้องไปบรรจุในพื้นที่ห่างไกล ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งระยะเวลา 2 ปีที่ให้ขอย้ายได้ ถือว่าเพียงพอ ทำให้ครูมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานสอน อีกทั้ง ยังถือว่าพ้นจากการเป็นครูผู้ช่วย ได้บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูเต็มตัว รวมถึง ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

Advertisement

รศ.ดร.ประวิตกล่าวว่า นอกจากนี้ องค์ประกอบเพื่อใช้พิจารณาการย้ายกรณีปกติตามหลักเกณฑ์เดิมนั้น ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ตาม ว 3/2564 ซึ่งเดิมหลักเกณฑ์ฯ กำหนดให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย 2 ปี และดำรงตำแหน่งครูอีก 2 ปี รวมเวลา 4 ปี ถึงจะยื่นคำร้องขอย้ายได้ ทำให้ข้าราชการครูที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลภูมิลำเนา ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน

“ถ้าถามผม คงไม่ทบทวนหลักเกณฑ์นี้แล้ว เพราะเกณฑ์นี้ไม่ได้ออกมาเพื่อเอาใจครู แต่ออกมาเพื่อให้ความเป็นธรรม โดยเฉพาะกับครูที่บรรจุในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งผู้ที่อยู่โรงเรียนในเมือง หรือตัวอำเภอ คงไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึง ก่อนออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผมได้ลงพื้นที่ทำประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผ่านกระบวนการวิเคราะห์เหตุ และผล อย่างรอบด้าน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับครูทั่วประเทศ หากอยู่ในที่ลำบาก ก็ต้องให้มีครูใหม่หมุนเวียนไป เพราะทุกคนก็คิดถึงอนาคต เรื่องนี้ต้องมองในหลายมิติ ไม่ใช่มองในมุมเฉพาะเรื่องความขาดแคลนอย่างเดียว” รศ.ดร.ประวิต กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ประวิตกล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาขาดแคลนครูนั้น เป็นหน้าที่ สพฐ.ที่ต้องวางแนวทางแก้ไข รวมถึง อนาคตจะต้องกำหนดปฏิทินการจัดสอบให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และเท่าที่ดูตัวเลขขอย้าย ไม่ได้มากจนผิดปกติ แต่ยอมรับว่ามีโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนครูจริง อย่าง จ.กาญจนบุรี ตรงนี้ สพฐ.ต้องไปดำเนินการแก้ไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image