1.7 หมื่น น.ศ.อาชีวะออกกลางคัน สอศ.เร่งดึงกลับระบบ ดัน ‘เรียนฟรี-มีอาชีพ’ เดินหน้ายกฐานะ ‘วิทยาลัย’

1.7 หมื่น น.ศ.อาชีวะออกกลางคัน สอศ.เร่งดึงกลับระบบ ดัน ‘เรียนฟรี-มีอาชีพ’ เดินหน้ายกฐานะ ‘วิทยาลัย’ เป็น ‘นิติบุคคล’

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยตัวเลขเด็กดร็อปเอาต์ หรือเด็กออกกลางคันที่เพิ่มขึ้นตลอดปี 2565 พบว่ามีอยู่กว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ครอบครัวยากจนอย่างแท้จริง แม้จะกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับเข้าเรียนแล้ว แต่พอเรียนไปไม่นานก็ออกจากระบบการศึกษา เพราะมีปัญหาเรื่องปากท้อง ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลในส่วนของอาชีวะ มีนักเรียน นักศึกษา ที่ออกกลางคันประมาณ 17,000 ราย สาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจ ความยากจน โดยได้สั่งการให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศที่มีเด็กออกกลางคันลงไปดูแล ออกติดตาม เพื่อให้กลับเข้ามาเรียน ซึ่งในส่วนของอาชีวะจะแตกต่างกับนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ตรงที่ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้น การติดตามกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจึงต้องใช้วิธีการเชิญชวนให้กลับเข้ามาเรียน ให้ทุนการศึกษา มีที่พัก มีงานทำ ตามโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ซึ่งมีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 88 แห่งทั่วประเทศ

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. … นั้น ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมีข้อเสนอสำคัญให้มีการปฏิรูปการอาชีวศึกษา สร้างคน สร้างชาติ จัดระบบโครงสร้างใหม่ ให้มีการบริหารงานลงไปที่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ให้มีอาชีวศึกษาจังหวัด เพื่อเป็นฐานในการทำงาน ให้สามารถบูรณาการกับการจัดการศึกระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนการส่งเสริมต่อยอด และการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มยอดผู้เรียน หรือการแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน

“ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.การอาชีวะฉบับใหม่จะเน้นเรื่องคุณภาพ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ลดการเรียนวิชาการให้น้อยลง เน้นภาคปฏิบัติ จัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ เป็นการเรียนในรูปแบบทวิภาคี อนาคตอาจใช้โรงงานเป็นโรงเรียน รวมถึงจะเสนอให้วิทยาลัยอาชีวศึกษามีสถานะเป็นนิติบุคคล วิทยาลัยสามารถบริหารจัดการ ทั้งงบประมาณ บุคลากร รวมทั้งตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัว ตรงนี้ถือเป็นการปฏิรูป และกระจายอำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่จะทำอะไรต้องเสนอเรื่องมาให้ส่วนกลางอนุมัติ ทำให้การทำงานล่าช้า โดยข้อเสนอดังกล่าวมีการสอบถามความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วย” ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image