‘ลลิตา’แนะอย่าโทษ’ซูจี’ เหตุเมินโรฮิงญา ชี้ไม่มีอำนาจเต็ม เชื่อเป็นปัญหาการเมือง

ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

วานนี้  (20 ธันวาคม) ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ระเบิดที่ย่างกุ้งกับสงครามที่ชายแดน : ชาติพันธุ์ ศาสนาและการก่อการร้ายในยุครัฐบาลพลเรือน”

ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “มุสลิมโรฮิงญา กับความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพม่า” ว่าอย่ามองว่าพม่าเป็นประชาธิปไตย เพราะปัจจุบันกองทัพยังมีอำนาจล้นฟ้า สามารถออกแบบประเทศ ปลดคนจากตำแหน่งได้ ดังนั้น อย่ามองแบบโลกสวย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลพม่าคือความมั่นคง ในขณะที่นางอองซาน ซูจี บอกว่าขาดการปรองดองไม่ได้ แต่ตนเชื่อว่าซูจีไม่ได้อยากปรองดอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุดคือ ภาพลักษณ์ต่อนานาประเทศ รัฐบาลพม่าไม่มีวันปล่อยชนกลุ่มน้อยแยกตัวเป็นอิสระ แม้มีสนธิสัญญาปางโหลง แต่ตนมั่นใจว่าประเด็นนี้จะยังอยู่ไปอีกนาน เพราะกองทัพพม่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากท่องอยู่อย่างเดียวกับคำว่าความมั่นคง นอกเหนือจากนั้นคือสิ่งผิด ส่วนกรณีโรฮิงญา พม่าไม่ยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศตัวเอง

“พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ จึงต้องใช้คำอื่นเรียกแทน เพื่อผลักออก เลยเรียกว่า เบงกาลี คือ คนที่มาจากแคว้นเบงกอล คนเหล่านี้ไม่มีสัญชาติ ดังนั้น การเข้าถึงระบบการศึกษา และอื่นๆ ก็เป็นศูนย์ นี่คือมาตรการที่พยายามกำจัดโรฮิงญาออกไปด้วยการจำกัดสิทธิบริการของรัฐ แล้วยังถูกบังคับให้เป็นแรงงาน แม้กระทั่งเด็ก 5 ขวบ ก็ต้องไปตัดหิน กะเทาะหิน สร้างทางโดยไม่ได้รับค่าแรง ไม่ทำก็ตาย หรืออาจถูกคุกคามทำให้มีคนโรฮิงญจำนวนมากต้องอพยพกลับไปบังกลาเทศ ปัญหาเหล่านี้มีมาโดยตลอดแต่ก่อนหน้าปี 2012 ประชาคมโลกยังไม่ได้สนใจ เพราะพม่าปิดประเทศ การรับรู้ข่าวสารจึงน้อย หลังจากนั้น เกิดจลาจลในยะไข่ มีโรฮิงญาเสียชีวิตจากการกวาดล้างของรัฐบาลพม่า 300 คน แต่ยังมีตัวเลขที่เราไม่รู้อีกเยอะ หลายแสนคนไม่มีที่อยู่ ต้องลอยคอในหาสมุทร และที่ผ่านมาซูจีไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องโรฮิงญา” ดร.ลลิตากล่าว

ดร.ลลิตายังกล่าวถึงประเด็นโรฮิงญาว่าเป็นปัญหาทางการเมืองที่ฝังลึก ไม่ใช่แค่เรื่องเชื้อชาติ ความรุนแรงต่อโรฮิงญา ได้รับการนับสนุนจากรัฐบาลพม่า แต่จะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรากหญ้า จนถึงผู้มีการศึกษา

Advertisement

“เคยโดนชาวพม่าถามหลายคนว่า จะรับโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในประเทศยูไหมล่ะ ? คำถามนี้แสดงให้เห็นเจตจำนงของทั้งชาวบ้านทั้งในระดับรากหญ้า จนถึงผู้มีการศึกษา คนรุ่นใหม่ รวมถึงกองทัพ หรือแม้แต่พระสงฆ์พม่าก็มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาโรฮิงญา ไม่ได้เป็นนอสตราดามุส แต่อยากบอกว่า นี่จะเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลพม่าไปอีกนานแสนนาน ขนาดซูจีก็เอาไม่อยู่ แต่จะมองว่าเธอไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ เพราะความจริง ซูจีไม่มีอำนาจเต็มที่จะทำ การชนะการเลือกตั้งว่ายากแล้ว แต่การชนะใจและรักษาอำนาจที่มีอยู่จำกัดก็ยิ่งยาก ทหารพม่าอ่อนไหวมากเรื่องความมั่นคง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image