เผยข้อมูลการศึกษา ‘เชียงใหม่’ อ่อนแอ เด็กขาดอัตลักษณ์ ท้องถิ่นเร่งแก้-จัดมหกรรม “หลากหลาย พริก เพื่อพลิกการเรียนรู้”

มหกรรมการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง ครั้งที่ 2 “การศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง : หลากหลาย พริก เพื่อพลิกการเรียนรู้” 17 ธันวาคม 2559 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

การศึกษาของไทยในภาพรวมที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบมาถึงคุณภาพการจัดการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลการจัดการศึกษา ข้อมูลปัญหาการศึกษาของชาติและของเชียงใหม่ ตามผลการวิจัย และการประเมินจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ พบว่า ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนถึง 1,727 แห่ง มีครูมากกว่าสองหมื่นคน มีนักเรียนก่อนประถม ประถม และมัธยม รวมอาชีวะ จำนวน 346,148 คน

อำเภอที่มีนักเรียนมากที่สุด คือ อำเภอเมือง รองลงมาคืออำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว อำเภอที่มี นักเรียนน้อย คือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา แม่ออน ดอยหล่อ นอกจากจังหวัดเชียงใหม่ยังมีความหลากหลายของประชากร ทั้งพี่น้องชนเผ่า ม้ง ลาหู่ กะเหรี่ยง ลีซู ฯลฯ อยู่ในฐานะที่ด้อยโอกาสและยากจน

Advertisement

นักเรียน 346,148 คน เรียนอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง 103,903 คน คิดเป็นร้อยละ 30 เรียนอยู่ใน 24 อำเภอ เฉลี่ยอำเภอละ 10,093 คน คิดเป็นร้อยละ 2.91 ของแต่ละอำเภอ โดยนักเรียนเหล่านี้กำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำและโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของนักเรียน/นักศึกษา โดยจากการสำรวจหมู่บ้าน เมื่อปี 2556 พบว่า หมู่บ้าน จำนวน 1,844 หมู่บ้านในเขตชนบท (เขต อบต. และเขตเทศบาล ที่ยกฐานะมาจาก อบต.) มีหมู่บ้านที่มีปัญหาการศึกษา จำนวน 892 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 48.37 เป็นปัญหาอันดับ 1 ใน 33 ตัวชี้วัด

ขณะเดียวกัน ความเป็นเอกลักษณ์ ตัวตนของเด็กเชียงใหม่ก็กำลังถูกท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนเชียงใหม่มีคุณลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขาดอัตลักษณ์/ตัวตนของความเป็นเชียงใหม่ เด็กเชียงใหม่ไม่ทราบประวัติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของชาวเชียงใหม่ ที่ส่งผลทำให้การศึกษาของเชียงใหม่อ่อนแอ ทั้งๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 720 ปี มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย มีศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และองค์ความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง

พื้นเมือง01

Advertisement

สถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อกระบวนการสร้างพลเมืองคนเชียงใหม่เช่นนั้น ส่งผลทำให้หลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่มีความห่วงใยและได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาวเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยชาวเชียงใหม่ จนนำไปสู่การขับเคลื่อนรวมตัวกันขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองจัดเวทีเสวนาปัญหาการศึกษา ทางออกจังหวัดเชียงใหม่ จนนำไปสู่การมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาเชียงใหม่ขึ้น เพื่อพัฒนาการศึกษาเชียงใหม่อย่างมีคุณภาพมีอัตลักษณ์แบบบูรณาการ และเกิดเป็นเวทีขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการระดมความคิดเห็นร่วมกันจากหลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2556 จนกระทั่งในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2557 ที่ประชุมได้มีมติให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน จัดทำร่างแนวทางปฎิรูปการศึกษาเชียงใหม่ และองค์กรในการขับเคลื่อนภายใต้ชื่อว่า “ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฎิรูปการศึกษา” โดยองค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำนักงานเลขานุการฯ

หลักการในการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ประกอบด้วยจุดยืน 4 ประการ คือ 1. ยึดนักเรียน จำนวน 346,148 คน เป็นตัวตั้ง 2. ยึดพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่ในการปฏิรูป 3. การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 4. การกระจายอำนาจทางการศึกษา จากส่วนกลางสู่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

โดยเป้าหมายทางการศึกษาของเชียงใหม่ คือ สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อสร้างเชียงใหม่และสังคมที่เข้มแข็ง มีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตลอดชีวิต มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะชีวิต มีทักษะการทำงานที่สามารถพึ่งตนเองได้ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น มีเหตุผล มีคุณธรรม จริยธรรม จิตสาธารณะ และสามารถปรับตัวเข้ากับบริบทของสังคมโลกได้ มีความรักและเข้าใจในชุมชนท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจในตัวเอง เคารพตัวเอง มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีสำนึกของความเป็นพลเมือง

ขณะเดียวกัน ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาก็มีพันธะกิจในการทำงาน คือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนและผู้เรียนตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น สถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาเอกชน สถานศึกษาสังกัด อปท. สถาบันศาสนา องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระของจังหวัดเชียงใหม่ และมีจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผนการศึกษาของเชียงใหม่อย่างเป็นองค์รวม เชื่อมโยงการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในการจัดการศึกษาแก่ทุกกลุ่ม องค์กร

พื้นเมือง03

นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายก อบจ. เชียงใหม่ “แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เป็นแผนที่จะดูแลการศึกษาตลอดชีวิตของคนเชียงใหม่ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเชิงตะกอน

การศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาใตร์ปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยจังหวัดเชียงใหม่มีชนเผ่าพื้นเมืองถึง 13 ชนเผ่า ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้ต่างมีวัฒนธรรม มีภาษาถิ่นของตนเอง

ที่ผ่านมา เด็กต้องเรียนในโรงเรียนที่ครูใช้ภาษาไทยอย่างเดียวในการสอน ทำให้เด็กชนเผ่าเกิดปัญหาในการเรียนรู้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กต่ำ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อันเกิดจากข้อจำกัดในการใช้และความเข้าใจในภาษาไทย”

วันนี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับ ภาคีเชียงใหม่ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ จึงมีแผนร่วมกันในการผลิตบุคลากรทางศึกษาของท้องถิ่นที่มีความรู้ความเข้าใจสามารถสื่อสารภาษาขณะเดียวกัน ด้วยชนเผ่าพื้นเมืองมีความหลากหลาย แตกต่างกันทั้งภาษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนของชนเผ่าพื้นเมือง จึงจะใช้วิถีชีวิต วัฒนธรรมเป็นฐานการเรียนรู้ เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับวิถีชีวิตของชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image