ไหว้ 10 พระศักดิ์สิทธิ์ เสริมมงคลเริ่มต้นปีใหม่

เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ 2560 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “กราบบูชาพระพุทธปฏิมาในพระมหากรุณาพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า” โดยอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลศักดิ์สิทธิ์โบราณ 10 องค์มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนกราบสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

มีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยสุโขทัยเป็นประธาน และได้คัดสรรพระพุทธรูปอีก 9 องค์ที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับบุรพมหากษัตริย์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความสุนทรียภาพความงามตามยุคสมัย สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทั้งยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้เป็นทั้งพุทธบริษัทและอัครศาสนูปถัมภกมาช้านาน

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กิจกรรมสักการะพระพุทธรูปดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ปีนี้เป็นปีที่เริ่มต้นรัชกาลที่ 10 กรมศิลปากรจึงอัญเชิญพระพุทธรูป 10 องค์ของแต่ละยุคสมัยซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องพุทธศิลป์มาให้ประชาชนสักการะและขอพร ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พช.พระนคร นอกจากนี้ยังได้จัดทำเอกสารแจกให้ประชาชนที่มากราบสักการะได้มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศิลป์ ปางของพระพุทธรูป คติความเชื่อ ความหมายของพระพุทธรูปในแต่ละปางด้วย

พระพุทธปฏิมาทั้ง 10 องค์ มีดังนี้

Advertisement

1.พระพุทธสิหิงค์ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” เป็นศิลปะสุโขทัย-ล้านนา อายุศิลปะประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 ชนิดสำริด กะไหล่ทอง ขนาดสูงพร้อมฐาน 135 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร องค์พระสูง 79 เซนติเมตร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ.2338 มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ลังกาได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 เข้ามาสู่สยามในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นสมัยต้นที่ประเทศสยามได้กำเนิดขึ้น ฉะนั้น จึงนับว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของสยาม

2.พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แบบศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21 ชนิดสำริดปิดทอง ขนาดสูงพร้อมฐาน 26 เซนติเมตร เป็นของหลวงพระราชทานมาเมื่อปี 2469 เก็บรักษาอยู่ที่คลังประพาสพิพิธภัณฑ์ พช.พระนคร ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า เมื่อ พ.ศ.2201 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระพุทธปฏิมาห้ามสมุทร” 2 องค์ คือ สมเด็จบรมไตรโลกนาถ และสมเด็จบรมตรีภพนาถห้ามสมุทร

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจำนวน 34 ปาง (องค์) เพื่อถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี พระองค์กำหนดให้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นพระพุทธรูปประจำสยามรัชกาลที่ 18 คือรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

3.พระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” แบบศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 ชนิดทองเหลืองรมดำ ขนาดสูงรวมฐาน 38.9 เซนติเมตร สำหรับประวัติ นายเล็ก วิจิตรภัทร มอบให้เมื่อปี 2514 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่คลังประพาสพิพิธภัณฑ์ พช.พระนคร เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกข้อความให้พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วเป็นประหนึ่งพระพุทธรูปประจำรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

4.พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” แบบศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 ชนิดสำริด ขนาดสูงพร้อมฐาน 34.8 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 22.4 เซนติเมตร ได้รับมอบจากกรมศุลกากร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ปทุมธานี เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจำนวน 34 ปาง ถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีนั้น พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาถูกกำหนดให้เป็นพระพุทธรูปประจำสยามรัชกาลที่ 34 คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

5.พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” รัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ แบบศิลปะล้านนา กลางพุทธศตวรรษที่ 21 ชนิดสำริด เป็นของหลวงที่พระราชทานมาเมื่อปี 2469 ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ห้องศิลปะล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พช.พระนคร เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปปางต่างๆ 37 องค์ ประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 34 องค์ และรัชกาลที่ 4 ทรงจารึกพระนามเพิ่มเติมอีก 3 องค์ รวมทั้งหมด 37 องค์ แต่ละองค์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์แต่ละรัชกาล พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชรถือเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

6.พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 4 แบบศิลปะล้านนา พ.ศ.2019 ชนิดสำริด พบที่วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค จ.พะเยา ที่มา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ พช.พระนคร ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พช.พระนคร ทั้งนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชนิยมในการหล่อพระพุทธรูป “ประทับขัดสมาธิเพชร” เพื่อให้แตกต่างจากพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระองค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ

7.พระพุทธรูปปางขอฝน น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 5 แบบศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 6 ชนิดโลหะผสม รมดำ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ถวายพร้อมทั้งตู้แปดเหลี่ยมสลักปิดทอง เมื่อปี 2470 ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ พช.พระนคร ทั้งนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในปางขอฝน (พระคันธารราฐ) เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะเหนือปัทมาสน์กลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงาย มีเกสรบัวประดับทั้งตอนบนและตอนล่าง บริเวณฐานมีตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ แต่เนื่องจากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่มีพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่ง จึงใช้พระพุทธรูปปางขอฝนประทับยืนในการจัดแสดงครั้งนี้แทน

8.พระพุทธรูปปางลองหนาว น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” แบบศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22-23 ชนิดสำริด รัชกาลที่ 7 พระราชทานเมื่อปี 2469 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น พระพุทธรูปปางลองหนาว เป็นพุทธปฏิมาที่หาได้ยาก ความสำคัญของพระพุทธรูปปางนี้ก็คือ เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระพุทธปฏิมามีอาการนั่งทรงผ้าคลุมพระสรีราพยพลองหนาว

9.พระพุทธรูปปางสมาธิใต้ร่มโพธิ์เหนือมารผจญ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” รัชกาลที่ 9 แบบศิลปะสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21 ชนิดสำริด เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ปัจจุบันเก็บรักษาที่ห้องอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พช.พระนคร เดิมทีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังจากทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 ก็ได้ประทับ ณ พระตำหนักเพชรในวัดแห่งนี้ตลอดการทรงผนวชเป็นเวลา 15 วัน พระพุทธรูปปางสมาธิที่มีองค์ประกอบเป็นร่มโพธิ์พฤกษ์ และกองทัพพญามารหรือมารผจญเช่นนี้ เป็นลักษณะที่พบได้ยากในพระพุทธรูปปางสมาธิในศิลปะอยุธยา การน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของรัชกาลที่ 9 ที่สวรรคต พระพุทธรูปปางสมาธิที่มีลักษณะพิเศษองค์นี้จึงสมควรแก่การนำมาประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เพื่อให้ประชาชนสักการบูชา

และ 10.พระพุทธรูปปางห้ามญาติ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” แบบศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 ชนิดสำริดปิดทอง เป็นของ พช.พระนครมาแต่เดิม เก็บอยู่ที่ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ พช.พระนคร ทั้งนี้ พระพุทธรูปปางห้ามญาติเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เนื่องด้วยทั้งสองพระองค์ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์

พระพุทธรูปปางห้ามญาตินี้เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ การนำพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์นี้มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ด้วย เพื่อแสดงถึงโอกาสพิเศษให้ประชาชนร่วมกันบูชาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทั้งยังสอดคล้องกับการเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระองค์ เนื่องด้วยพระองค์ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 ด้วย

ขอเชิญผู้สนใจไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ได้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พช.พระนคร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image