ฟื้น”ครูใหญ่-อจ.ใหญ่” การศึกษาไทย-วนไป

แวดวงการศึกษาฮือฮาเมื่อ “หม่อมเหลน” ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ป้ายแดงเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 2 วัน ได้ให้สัมภาษณ์ โชว์ไอเดีย เตรียมเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ฟื้นตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนใหม่ โดยกลับไปใช้ตำแหน่ง ครูใหญ่Ž และ อาจารย์ใหญ่Ž จากปัจจุบันกำหนดมาตรฐานตำแหน่งว่า ผู้อำนวยการสถานศึกษาŽ

แนวคิดหม่อมเหลนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน…

ม.ล.ปนัดดาเล่าถึงการฟื้นตำแหน่งครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ ว่า การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งใหม่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะจะต้องไปปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น คงไม่ไปทำอะไร ความหมายคืออยากให้ดำรงรักษา 2 คำนี้ไว้ในหัวใจของทุกคน ไม่อยากให้นักเรียน และครู รวมถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกคนลืมคำว่าครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่

“ช่วงหลังคนจะลืมตำแหน่งครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ ดังนั้น ผมจึงอยากให้ช่วยกันดำรงรักษา 2 คำนี้ไว้ให้เป็นเกียรติประวัติกับลูกหลาน นักเรียน และครู ได้มีความภาคภูมิใจ อีกทั้งอยากให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกคนจดจำ 2 คำนี้ไว้ในหัวใจ ว่าไม่ได้มีแค่หน้าที่บริหารเท่านั้น แต่ขอให้ทำหน้าที่เป็นครูคนหนึ่ง อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม รวมถึงให้มีความรัก และสามัคคี ด้วยความรักความเมตตา คำว่าครูใหญ่และอาจารย์ใหญ่มีความหมายลึกซึ้ง โดยจะหารือกับ นพ.ธีระเกียรติขอให้ช่วยรณรงค์ให้ 2 คำนี้ดำรงอยู่ในกรอบความคิดของคนไทยต่อไปŽ” ม.ล.ปนัดดากล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายศรีชัย พรประชาธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ย้อนอดีตที่มาของการยกเลิกตำแหน่งครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ ว่า เกิดขึ้นในช่วงที่มีการปฏิรูประบบบริหารราชการของ ศธ. ยุบรวมการบริหารงานจาก 14 กรม หรือ 14 องค์ชาย เหลือ 5 องค์กรหลักของ ศธ.ในช่วงปี 2547 ทำให้ต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู พ.ศ.2523 ปรับแก้มาเป็น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

หนึ่งในสาระสำคัญที่มีความเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.ใหม่คือ การกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา จากเดิมที่ใช้ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ช่วยครูใหญ่ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน มาเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากเสียงเรียกร้องของนักวิชาการ และคนในแวดวงการศึกษายุคนั้น อยากเห็นวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับกลุ่มแพทย์ ประกอบกับความน้อยเนื้อต่ำใจของผู้อยู่ในตำแหน่งครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ มักถูกเปรียบเทียบว่าเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านนอก ต่างจากผู้อำนวยการโรงเรียนมักจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่า

ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนทุกคนเกิดความภาคภูมิใจ จึงยกเลิกตำแหน่งทางการบริหารจากเดิมที่ใช้ระบบการจำแนกตำแหน่งตามขนาดโรงเรียนเล็ก กลาง ใหญ่ คือ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียนตามลำดับ มาใช้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเท่ากันหมด มีเส้นทางการเติบโต การทำผลงานทางวิชาการ หรือวิทยฐานะ มี 4 ระดับ คือ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน แต่หากเติบโตตามระบบจำแนกตำแหน่งเช่นเดิม ครูใหญ่จะเทียบเท่ากับข้าราชการระดับ 3-5 อาจารย์ใหญ่เทียบเท่าข้าราชการระดับ 6-7 ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจะเทียบเท่าข้าราชการระดับ 7-8

Advertisement

นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เห็นคุณค่าในความหมายของคำว่าครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ แต่เราเดินมาไกลแล้ว หากจะรณรงค์ให้ครู หรือนักเรียนกลับไปใช้คำเรียกเดิม คงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งยังต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีค่านิยม และให้การยอมรับกับคำว่าผู้อำนวยการมากกว่า เดิมเรากำหนดตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนว่าครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน มีความรับผิดชอบตามขนาดโรงเรียน และมีฐานเงินเดือนที่แตกต่างกัน อีกทั้งคำว่าผู้อำนวยการก็มีความหมายกว้างมากกว่าการเป็นครูสอน แต่ยังมีบทบาทในการบริหารจัดการโรงเรียนให้จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ว่างบประมาณ อาคารสถานที่ ไปจนถึงอุปกรณ์การเรียนการสอน

“สังคมไทยส่วนใหญ่มักจะยอมรับ และรู้สึกภาคภูมิใจกับคำว่าผู้อำนวยการมากกว่า หากเปรียบเทียบก็เท่ากับนายอำเภอ หรือข้าราชการระดับ 7-8 ทำให้สมัยก่อนเกิดปัญหาครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ วิ่งเต้นเข้าหานักการเมือง ทำผลงาน ตกแต่งตัวเลขนักเรียนเกินจริง เพื่อให้ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลในช่วงนั้นจึงกำหนดตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาให้เท่าเทียมกันหมด เพื่อลดการวิ่งเต้น ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนขนาดเท่าใด ก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น แม้ทุกวันนี้จะพบแล้วว่าการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาการวิ่งเต้นได้ แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง เพื่อนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งก็ตามŽ” นางประพันธ์ศิริกล่าว

แต่กระนั้น การที่ ศธ.จะกลับไปเรียกผู้บริหารโรงเรียนว่า ครูใหญ่Ž หรือ อาจารย์ใหญ่Ž หรือไม่ หรือจะยังคงใช้ ผู้อำนวยการŽ ต่อไป

ทั้งหมดทั้งมวลคงไม่สำคัญเท่าคนเหล่านี้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูหรือไม่ มีหัวจิตหัวใจจะพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน และพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยหรือไม่

ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกขานเลิศหรูแค่ไหน หากหลงลืมหัวใจ ไม่มีประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image