“เจ้าคุณพิพิธ” เผยที่มา “ฤกษ์” ปักหมุดพระเมรุมาศ ยึดตำราโบราณ คนทำพิธีสมาทานศีล8

“เจ้าคุณพิพิธ” เผยข้อมูลลึก ที่มา “ฤกษ์” ปักหมุดพระเมรุมาศ จากตำราโบราณ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ เจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศน์เทพวราราม เปิดเผยกับ “มติชนออนไลน์” ถึงการคำนวณฤกษ์ยามในการปักหมุดก่อสร้างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้มีการประกอบพิธีปักหมุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า การให้ฤกษ์การปักหมุดพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ที่มีบุญญาธิการเช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญมากมีการใช้ตำราโบราณ คัดเลือกวัน และเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคือวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม เวลาตั้งแต่ 15.59 นาทีเป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จฤกษ์คือไม่เกิน 19.30 น. เนื่องจากมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาประกอบพิธีด้วย จึงใช้ฤกษ์ยาว ส่วนผู้ทำพิธีต้องเป็น ผู้ถือพรหมจรรย์ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนำสาวพรหมจรรย์มาทำพิธี แต่ผู้ที่จะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ ต้องสมาทานศีล 8 ในช่วงเวลานั้นๆเสียก่อน เรียกว่าศีลพรหมจรรย์ของฆราวาส นี่คือพรหมจรรย์ในทางพุทธศาสนา

“ในการตรึงหมุดพระเมรุมาศ 9 หมุด หมุดกลาง ใช้ไม้ทองหลาง อีก 8 ทิศเป็นไม้พะยูง ทั้งหมดต้องเป็นไม้ตายพราย คือตายโดยธรรมชาติ เช่น กิ่งตาย ต้นตาย ห้ามไปตัดไม้มา เช่นเดียวกับพระโกศจันทน์ ก็ใช้ไม้ตายพรายเช่นกัน เมื่อลงยันตร์แล้ว ใช้สายสิญจน์กั้นปริมณฑล ” เจ้าคุณพิพิธกล่าวและว่า เมื่อจะลงเสาเอก ตามตำรับโบราณ ต้องใช้ไม้มงคล 9 ชนิด อิฐ 3 ก้อน และเพชรพลอย โดยปกติใช้พลอยหุง เม็ดใหญ่ ประมาณนิ้วโป้ง 9 เม็ด หรือ 9 ชุดก็ได้ พระเมรุมาศนี้ก็จะมีรัตนะเก้าประการโปรยลงไป

เจ้าคุณพิพิธกล่าต่อว่าการได้เป็นผู้ให้ฤกษ์สำคัญในครั้งนี้ทาง “ป.ว.ช. ลิขิตการช่าง” หนึ่งในบริษัทผู้ก่อสร้างพระเมรุมาศ ได้เข้ามาปรึกษาถึงฤกษ์ที่เหมาะสม โดยบอกว่า เรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ วัดสุทัศน์ฯ เป็นต้นตำรับวิชาความรู้เหล่านี้ ได้ศึกษาร่ำเรียนตั้งแต่ครั้งยังเป็นเณร โดยพระผู้ใหญ่ถ่ายทอดและให้คำปรึกษา จึงสั่งสมสิ่งเหล่านี้มาตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image