เปิดมุมมอง…พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ “พุทธศาสนา” ในโลกตะวันตก

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร อาจารย์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) วิทยากรในเวทีระดับประเทศและนานาชาติ เป็นชาวเนปาล บวชสามเณรที่เนปาล และอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 สำเร็จการศึกษาศาสนศาสตรบัณฑิต จากคณะสังคมศาสตร์ มมร , ระดับปริญญาโท ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยตรีภูวัน ประเทศเนปาล, ระดับปริญญาโท ด้านมานุษยวิทยาสังคม จากวิทยาลัยไครสต์คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พ.ศ.2537 และระดับปริญญาเอก ด้านมานุษยวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยบรูเนล ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน สำเร็จในปี 2543

ปัจจุบันพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ รับนิมนต์เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยซานตาคลารา สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โอกาสนี้ “มติชน” จึงสัมภาษณ์ถึงการเรียนการสอนพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

๐ความเป็นมาของการสอนพุทธศาสนาในโลกตะวันตก
“เรื่องการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตกมีมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าพุทธศาสนาไปถึงยุโป กรีก ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ปรากฏหลักฐานว่ามีฝรั่งชาวกรีกมาบวชสมัยนั้นแล้วชื่อว่าพระธรรมรักขิต แต่พุทธศาสนามาบูมจริงๆ ในยุคล่าอาณานิคมเอเชีย โดยมีการขนวัตถุโบราณ ของสวย ของมีค่า คัมภีร์ ใบลาน ไปศึกษา หาความหมาย เกิดความสนใจในแง่เนื้อหาธรรมะ เลยทำให้พวกฝรั่งมีวิชา/แขนงหนึ่งที่เรียกว่า “พุทธศาสน์ศึกษา” เป็นการศึกษาพุทธศาสนาเชิงวิชาการ ไม่ใช่ในแง่ความเชื่อหรือศาสนา

ปีค.ศ.1830 เริ่มขนหนังสือจากวัดเอเชีย ศึกษาภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาขอม ตลอดจนศึกษาคัมภีร์โบราณที่ขนจากซีกโลกตะวันออกไป มหาวิทยาลัยในยุโรปในสมัยนั้น เช่น อังกฤษ เริ่มสอนภาษาบาลีตั้งแต่ค.ศ.1881 มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤขณะที่ประเทศไทยซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในขณะนั้นยังเป็นใบลานอยู่ หรือแม้แต่เยอรมันและออสเตรีย ก็มีการสอนภาษาบาลีแล้ว เรียกว่าเริ่มมีการเรียนการสอนพุทธศาสน์ศึกษาในมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยนั้น แต่ในไทยการเรียนการสอนอยู่ภายใต้คณะปรัชญา/ศาสนา เพิ่งมาปรากฏคำว่าพุทธศาสน์ศึกษาเมื่อ 15-20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝรั่งใช้คำว่าพุทธศาสน์ศึกษาโดยตรงและศึกษาในเชิงวิชาการมานานแล้ว

Advertisement

ความต้องการอาจารย์สอนในยุโรปหรืออเมริกาค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะช่วงหลังๆ มหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างเห็นคุณค่าของศาสนามากขึ้น ยิ่งความคิดเรื่องศาสนศึกษาพัฒนาขึ้นในวงการศึกษา ทุกศาสนามีการเรียนการสอนขึ้น แต่ก็ขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคม ด้วยว่าพอวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าหรือมีความเจริญก้าวหน้าของโลก ศาสนาอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น โลกร้อน โรคเครียดซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ศาสนาอื่นไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ฝรั่งกลับมาเจอคำตอบในพุทธศาสนา ทำให้ในวงการศึกษา พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาที่ศึกษาแบบกว้างขวาง ไม่ได้ศึกษาในเชิง “ศาสน์” ไม่ได้ศึกษาในเชิงความเชื่อหรือปรัชญา แต่ศึกษาในเชิง “ศาสตร์” หรือองค์ความรู้ ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำและมหาวิทยาลัยทั่วไป ถ้าไม่มีการเรียนการสอนพุทธศาสนา ก็เสียรายได้และกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย เพราะทุกมหาวิทยาลัย นักศึกษาแสวงหาคอร์สนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยในอเมริกาเริ่มเปิดคอร์สพวกนี้ มีการวิจัย เขียนตำรา

ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศขาดแคลนบุคลากรในระดับที่ค่อนข้างมาก อาตมาเลยถูกทาบทามตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนปริญญาโท คณะมานุษยวิทยาสังคม ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เรียนยังไม่จบก็ถูกหมายหัวจากอเมริกาแล้ว ความจริงระหว่างที่เรียนอยู่ที่เคมบริดจ์ ก็มีให้ไปช่วยสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะความขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ในพุทธศาสนาและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เขาได้ในภาษาที่เขารู้เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะบางทีพวกเราอาจมีความรู้ในทางพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีศิลปะในการถ่ายทอดและวิธีการถ่ายทอดติดรูปแบบไทยหรือเอเชีย ซึ่งระบบการศึกษาของฝรั่งรับไม่ได้ เราติดในแง่ศรัทธานำ แต่ฝรั่งไม่เอาศรัทธานำ เขาเอาศรัทธาเป็นตัวท้าย ศรัทธาเกิดขึ้นเองหลังจากศึกษาจนเกิดผลสัมฤทธิ์แล้ว เขาเริ่มจากความสงสัยและความท้าทาย คือ มาจากปัญญา และเมื่อศึกษาแล้วปฏิบัติตามจึงกลายเป็นความศรัทธาเกิดขึ้น

Advertisement

เมื่อความต้องการมีมาก ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดคอร์สพุทธศาสน์ศึกษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด อย่างที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ตอนนี้เปิดหลักสูตรพุทธศาสนาสำหรับบุคคลทั่วไป 7 สัปดาห์เริ่มเรียนวันที่ 24 มกราคม 2560 หรือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็มีสอน เช่นกัน แทบทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอนหมด เพียงแต่บางแห่งอาจอยู่ภายใต้ภาควิชาศาสนศึกษาหรือบางแห่งมีภาควิชาพุทธศาสน์ศึกษาโดยตรง อย่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็มีภาควิชาพุทธศาสน์ศึกษา และล่าสุดประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทในมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการจัดตั้งศูนย์ที่เจาะลึกเถรวาท เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าในการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก”

๐พระที่รับนิมนต์ไปสอนพุทธศาสนาในต่างประเทศ

“พระที่ได้รับนิมนต์ไปสอนมีจำนวนน้อย อาทิ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ยุคหนึ่งได้รับนิมนต์ไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ก็มีพระอยู่รูปหนึ่งไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ หรืออย่างมหาวิทยาลัยบาธ อังกฤษ ก็มีพระศรีลังกาไปสอนเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ภาควิชาปรัชญา ส่วนอาตมานั้น ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่เคมบริดจ์ แต่ช่วงนั้นอาตมายังไม่รับนิมนต์ เพราะช่วงที่ไปเรียนปริญญาโทและเอกนั้น ไปด้วยทุนพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ถ้าเรียนจบแล้วรับนิมนต์ไปสอนเลย ก็จะดูเหมือนเรามุ่งแต่ความเจริญก้าวหน้าของตัวเองมากเกินไป  เลยไม่ได้ตอบรับ  และเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเริ่มประชวรด้วย อาตมาเลยกลับมาถวายงาน จนเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชประทับรักษาที่โรงพยาบาล ดูเหมือนไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ และขณะนั้นทางอเมริกาก็ยังตื้อให้ไปสอนอยู่เรื่อย เมื่อคณะแพทย์ถวายการรักษาและเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเองตรัสว่าไม่ต้องอยู่ดูแลที่นี่แล้ว ให้เป็นหน้าที่ของคณะแพทย์ และให้อาตมาไปเผยแผ่ศาสนาดีกว่า  อาตมาก็เลยรับนิมนต์ไปสอนที่มหาวิทยาลัยในอเมริกา”

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

๐ที่มาของทุนพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
“เป็นพระประสงค์ของสมเด็จพระสังฆราชที่อยากให้อาตมาศึกษาต่อ ตอนจะไป ทรงทราบถึงพระกรรณของในหลวง รัชกาลที่ 9 อาตมาเลยทำหนังสือกราบบังคมทูลลาฯ ไปเรียน พระองค์ทรงรับสั่งถามถึงที่มาที่ไปของทุน พอทราบว่าสมเด็จพระสังฆราชจะประทานทุนให้เอง พระองค์เลยมีกระแสรับสั่งว่าไม่ต้อง เดี๋ยวท่านจะพระราชทานเอง ก่อนที่จะเดินทาง 3 วัน ทางม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการในขณะนั้น ได้อัญเชิญเช็คพระราชทานมาให้ และฝากพระราชกระแสมาว่า “ไม่ต้องคิดว่าจะไปกี่ปี ให้ตั้งใจเรียนให้จบ ถ้าทุนทรัพย์ไม่พอ ก็ขอให้บอก

เป็นทุนส่วนพระองค์ที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตลอดระยะเวลาที่อาตมาเรียนปริญญาโทและเอกที่อังกฤษ รวมระยะเวลา 4-5 ปี ปีละประมาณ 15,000-16,000 ปอนด์ อาตมาเรียนปริญญาโทที่เคมบริดจ์ 1 ปี ปริญญาเอกย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยบรูเนลเพราะอาจารย์เคมบริดจ์แนะนำว่าอาจารย์ที่นั่นดูแลวิทยานิพนธ์ดีกว่า แต่ปีสุดท้ายที่เรียนปริญญาเอกไม่ได้ขอพระราชทานทุนจากในหลวง เพราะยังมีเงินพออยู่”

๐พุทธศาสนาเจริญในโลกตะวันตก
“สาเหตุที่ศาสนาพุทธไปเจริญในต่างประเทศ เพราะเขาไม่ได้เรียนพุทธศาสนาเพื่อไปเป็น “พุทธ” ฝรั่งบอกว่าเรียนพุทธศาสนาเพื่อเป็น “คริสต์ที่ดี” เป็น “มุสลิมที่ดี” อย่างมุสลิม เขาบอกว่าเรียนพุทธศาสนาแล้วทำให้เป็นมุสลิมที่ดี พวกคริสต์เรียนพุทธศาสนา ก็เป็นคริสต์ที่ดี จนปัจจุบันในบริบทอเมริกาเกิดชื่อกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นว่า Jubu(Jewbu) หรือ Jewish Buddhist คือในแง่ของพิธีกรรมยังเป็นยิวอยู่ แต่วิธีคิดวิธีดำเนินชีวิตเป็นพุทธ เช่นเดียวกับในหมู่คริสต์ เกิดคำว่า ChristBu ในแง่พิธีกรรมก็ยังทำตามคริสต์ไป แต่การปฏิบัติหรือการคิดเป็นแบบพุทธ”

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

๐ฝรั่งคิดว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา?
“หลายศาสนาเป็นแค่ปรัชญา แต่พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา อย่างวิทยาศาสตร์ยังขึ้นอยู่กับกาลเวลา แต่พุทธศาสนาเป็นสัจธรรมที่ไม่มีเงื่อนไขของกาลเวลา พิสูจน์ได้ตลอดเวลา ปฏิบัติได้ และเมื่อปฏิบัติแล้ว รู้ได้ด้วยตัวเอง ชาวตะวันตกตื่นเต้นกับพุทธศาสนามาก เลยมีการเรียนการสอนพุทธศาสนามาก แต่พวกเราชาวพุทธหรือชาวเอเชียพอเห็นเขาศึกษาก็ตื่นเต้น ฮือฮาว่าเขาจะมาเป็นพุทธ ซึ่งไม่ใช่ ที่เขาศึกษาไม่ได้จะไปเป็นชาวพุทธ แต่ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน ฝรั่งใช้ทุกวิทยาการที่มีอยู่เพื่อพิสูจน์ ยิ่งพิสูจน์ยิ่งปฏิเสธไม่ออก ยิ่งพิสูจน์ยิ่งเจอเพชร เช่นเมื่อ 10 ปีก่อนองค์การอนามัยโลก(WHO) ศึกษาวิจัยทั่วโลกว่าพัฒนาการของโลกในอนาคตเป็นอย่างไรและมีโรคใดบ้าง เพื่อดักปัญหาได้ถูก ปรากฏว่าโรคร้ายแรงที่สุดในปีค.ศ.2020 ไม่ใช่มะเร็งหรือเอดส์ แต่กลายเป็นโรคเครียด เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ฝรั่งพยายามค้นคว้ายาเพื่อแก้ไข แต่พบว่า “ยา” รักษาโรคเครียดได้แค่ชั่วคราว เพราะความเครียดเกิดจากวิถีชีวิตที่เราสร้างขึ้น

ไปๆ มาๆ ฝรั่งที่ศึกษาพุทธศาสนาก็เลยทดลองใช้วิธี “การเจริญสติ(mindfulness)” จนตอนนี้ทางการแพทย์พัฒนาขึ้นเรียกว่า “MBCT” หรือ “Mindfulness-based Cognitive Therapy” คือการบำบัดจิตบนพื้นฐานของการเจริญสติ หรือการบำบัดจิตแก้ไขเรื่องความเครียด ตอนนี้วงการแพทย์ใช้การเจริญสติเป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง พอทดลองด้วยการเจริญสติ ปรากฏว่าสามารถแก้ไขโรคต่างๆ หายเป็นปลิดทิ้ง ทั้งโรคจิต โรคเครียด โรคมะเร็ง สารพัดโรคหายหมด ด้วยเหตุนี้เขาจึงศึกษาลึกลงไปว่าทำไมแค่การนั่งสมาธิถึงสามารถแก้ไขในสิ่งที่ “ยา” แก้ไขไม่ได้ พบว่า “change your mind, change your brain” คือ ฝึกจิตแล้วเปลี่ยนสมองได้ ด้วยเหตุนี้ทางวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาคำว่า “จิต(mind)”

ฝรั่งไม่มีคำว่า mind มีแต่ soul (อัตตา/ตัวตน) แต่พุทธศาสนาเชื่อว่าไม่มีตัวตน แต่มีจิต(mind) ที่สามารถบังคับตัวตนให้เป็นไปในสิ่งที่เราต้องการได้ จิตเป็นสิ่งใหม่สำหรับฝรั่ง แต่ของเราพูดถึงจิตมากว่า 2,500 ปีแล้ว เรารู้ว่าตัวตน(soul)ดำเนินตามจิต พอฝรั่งมาเจอจิต คือการรับรู้ทางพุทธศาสนา นั่นคือ ใช้อายตนะไปกระทบกับสิ่งข้างนอกแล้วเราทำปฏิกิริยากับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจหรือมีตัว “ปัญญา” มาก ปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้นก็ออกมาในทางฉลาด แต่ถ้าเราปัญญาน้อย เราก็จะกลายเป็นเหยื่อกับสิ่งที่มากระทบ นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนาสอนมานานแล้ว

พุทธศาสนาจึงกลายเป็นวิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน อาตมาเคยถามนักศึกษาที่ลงเรียนกับอาตมา คือที่มหาวิทยาลัยซานตาคลาราที่อาตมาสอนอยู่เป็นมหาวิทยาลัยคริสตัง แต่คอร์สพุทธศาสนากลับเป็นคอร์สที่ป็อบปูลาร์มากที่สุด เวลามหาวิทยาลัยประกาศว่าอาตมาจะไปสอนเทอมไหน (วิชาเลือก 5 หน่วยกิต) ปรากฏว่านักศึกษาลงชื่อเรียนเต็มคลาส 35 คนภายใน 15 นาที จนบาทหลวงที่เป็นเพื่อนฝูงกันถามว่าคุณมีดีอะไร ทำไมถึงเต็มเร็ว เพราะของเขาขยายเวลาแล้วขยายอีกก็ยังไม่เต็ม อาตมาเคยเจอถึงขนาดที่นักศึกษามาร้องไห้อ้อนวอนขอเรียน ด้วยความอยากรู้เลยถามนักศึกษาว่า “ทำไมพวกคุณถึงคลั่งวิชาพุทธศาสนากันมาก” เขาตอบว่า “วิชานี้ขาดไม่ได้เลย ถ้าขาดวิชานี้ ทำอะไรไม่ได้” อย่างฝรั่งที่เรียนวิชาเอกจิตวิทยา บอกว่าถ้าไม่ได้เรียนพุทธศาสนา เท่ากับไม่รู้เรื่องจิตวิทยาเลย ตอนนี้กลายเป็นว่านักศึกษาที่เรียนวิชาทางแพทย์ ก็ต้องมาเรียนวิชานี้เป็นพื้นฐานก่อน ถ้าไม่ได้เรียน เท่ากับวิชาอื่นๆ ที่เรียนอยู่ไม่สมบูรณ์”

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระอนิล

พระอนิล2

๐โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสอนพุทธศาสนากันหมด?
“โรงเรียนรัฐในอเมริกาสอนกันหมด อย่างเวสโคสท์เฉพาะที่รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีโรงเรียนรัฐประมาณ 200-300 โรง ปรากฏว่าทุกโรงเรียนสอนกันหมด เขาสอนเจริญสติ(mindfulness) ตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่บางที่เกรงว่าผู้ปกครองจะเข้าใจผิดว่าจะไปล้างสมอง เลยเลี่ยงไปใช้คำว่า “secular mindfulnesss” เพราะถ้าใช้แค่คำว่า “mindfulness” ยังมีโทนศาสนา ฝรั่งจึงพยายามบอกผู้ปกครองว่าเป็น mindfulness ทางโลก ความจริงสอนเหมือนพุทธศาสนาเพียงแต่ถ้าไปบอกว่าเป็นพุทธศาสนา เขาจะคิดว่ามีความเชื่องมงายเข้าไปด้วย ฝรั่งเลยพยายามเลี่ยงตรงนี้ อาตมาเคยคุยกับเพื่อน ถามว่าทำไมถึงใช้คำว่า mindfulness(เจริญสติ) ทำไมไม่ใช้คำที่กว้างกว่านี้ คือ Mindful Awareness(สติสัมปชัญญะ) คือ สติ(ความจำ)อย่างเดียว ไม่พอ แต่ต้องมีเงาของสติ คือ สัมปชัญญะ(ความรู้ตัว ) ด้วย ตอนนี้เพื่อนเลยหันมาใช้คำใหม่ว่า “Mindful Awareness”

อย่างระดับอนุบาล วิธีการสอนให้เด็กนอน ครูเอาตุ๊กตาวางที่อก แล้วให้เด็กดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับตุ๊กตา เด็กเห็นว่าขยับขึ้นลงเมื่อเราหายใจเข้า-ออก คือของฝรั่งไม่ได้บอกว่าหายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” แต่ให้ดูสภาพตรงนั้น หรือให้ดูที่ท้อง คือเอาเวทนานุปัสสนามาพัฒนาให้เด็กเรียน หรือถ้าเด็กซน วิธีการสอนก็ให้เด็กนั่งล้อมวง ครูตีกลองแล้วบอกว่าถ้าหยุดเมื่อไร ที่เต้นอยู่ท่าไหนก็ต้องหยุดท่านั้น เด็กทุกคนก็เต้น แต่ในขณะเดียวกันหูฟัง แล้วพอหยุดเสียงกล้อง ก็หยุดในท่านั้น นี่คือการฝึกเรื่อง “รู้ตัว” หรือไม่ก็ให้เด็กนั่งวงล้อม ครูตีระฆังแล้วบอกว่าถ้าใครไม่ได้ยินก็ให้ยกมือขึ้น เราจะเห็นว่าเด็กแต่ละคนได้ยินเสียงไม่เท่ากัน ความละเอียดของเสียงระฆังที่ค่อยๆ หายไปของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เป็นการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ ฝึกให้เด็กจดจ่อโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการนั่งสมาธิ หลังเข้าคอร์ส มีการสัมภาษณ์พ่อแม่ว่าเด็กเป็นอย่างไรบ้าง พ่อแม่บอกว่าตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องของศาสนา เลยกลัว ไม่อยากให้ลูกเรียน แต่พอลูกได้เรียนแล้ว รู้สึกสุดยอดมาก อย่างตอนที่ทะเลาะกับสามี กลายเป็นลูกที่บอกว่าให้ไปนั่งสมาธิ หรือบางคราวลูกบอกว่า ‘อย่าโกรธ ให้นับหายใจ 1,2,3 แล้วจะหายโกรธ’ คือ กลายเป็นเด็กสอนพ่อแม่”

๐เป็นอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
“ตอนเรียนจบดอกเตอร์ใหม่ๆ มาเป็นอาจารย์สอนที่ มมร จากนั้นมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) นิมนต์ให้ไปช่วยสอนวิทยาลัยศาสนศึกษา วิชาพุทธศาสนาเถววาท ตามมาด้วยวิชาพุทธศาสนาในตะวันตก การอ่านคัมภีร์ นอกจากนี้มีสอนในเชิงปรัชญา สอนทรัพยากรมนุษย์ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สอนนิติปรัชญาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงช่วยแก้ไขหลักสูตรในทางจิตวิทยาให้กับแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา สอนนักศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกนที่มาเข้าค่ายพุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อมที่เนปาล แล้วจึงรับนิมนต์ไปสอนที่ต่างประเทศในปีค.ศ.2002

สมัยปีค.ศ.2002 ที่รับนิมนต์ไปสอนที่มหาวิทยาลัยซานตาคลารา สหรัฐอเมริกานั้น นักศึกษาสนใจเยอะมาก คณบดีเลยถามว่าเอาไหมเปิดสอน 2 คลาสเลย เราก็บอกได้ไม่มีปัญหา ก็เลยสอน 2 คลาส แต่นักศึกษาก็ยังแน่น พออีกครั้งเราก็บอกว่าไม่ไหว สอนแค่วิชาเดียว ไม่พัฒนา จะทำให้สมองฝ่อ คณบดีเลยถามว่าเปลี่ยนวิชาไหม อาตมาเลยไปคิดออกแบบหลักสูตรใหม่ เป็นว่า ‘Buddhism and Globalization’ คือ วิชาพุทธศาสนากับโลกาภิวัตน์ ยุคนั้นยังไม่เคยมีวิชานี้ แต่พอมาปี ค.ศ.2003-2004 วิชานี้มีอยู่ทั่วโลกแล้ว แต่ตอนนั้นยังเป็นวิชาใหม่ อาตมาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม ก็เลยถามพวกอาจารย์ที่สอนพุทธศาสนาในมหาวิทยาลังดังๆ ทั้งหมดที่รู้จักกัน ส่งหลักสูตรไปให้เขาช่วยวิจารณ์ว่าที่เราออกแบบดีไหม ทุกคนตอบกลับมาว่า ‘ฉันก็ไม่สามารถที่จะทำให้มันดีไปกว่านี้ได้’ อาตมาก็เลยเปิดวิชาใหม่ เป็นแอดวานซ์คอร์สหรือพุทธศาสนาระดับสูง เป็นการประยุกต์พุทธศาสนา คือ มองโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีผ่านเลนส์พุทธศาสนา

ทุกวันนี้เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซานตาคลารา สหรัฐอเมริกาและมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ อาจารย์สอบวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาที่พม่า โดยที่ซานตาคลาราสอนอยู่ 2 วิชา คือ ‘Buddhism Intermediate-level(พุทธศาสนาระดับกลาง)’ ด้วยความที่ซานตาคลารา เป็นมหาวิทยาลัยคริสตัง จึงบังคับนักศึกษาทุกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้จะต้องผ่านวิชาศาสนา 3 ตัว (religious study) ภายใน 4 ปี คือ ศาสนาเบื้องต้น ศาสนาระดับกลาง และศาสนาระดับสูง โดย 3 ตัวนี้ จะเลือกเรียนตัวไหนก็ได้แล้วแต่ซึ่งมหาวิทยาลัยมีให้เลือก 20-30 ตัวเลือก โดยอาตมาสอนอยู่ระดับกลาง คือ Buddhism Intermediate-level และอีกตัวเป็นระดับสูง (advanced) คือ ‘Buddhism and Globalization (วิชาพุทธศาสนากับโลกาภิวัตน์)’  ส่วนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด อาตมาสอนระดับปริญญาเอกในแง่มานุษยวิทยา คือสอนวิชาพุทธศาสนาในประเทศไทยในเชิงวิชาการ มองภาพรวมพุทธศาสนาในประเทศไทยจากมุมมองทุกอย่างทั้งจากข้อมูลดิบและวิพากษ์ข้อมูลดิบว่าทำไมถึงเป็นภาพอย่างนั้น นอกจากนี้ยังเป็นคลังสมองให้กับสประชาชาติ โดยสหประชาชนกำลังขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืน ก็ให้อาตมาเป็นคลังสมองไปให้ข้อมูล ส่วนยูเนสโก อาตมาเป็นวิทยากรในเรื่องสิ่งแวดล้อม world economic forum”

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระอนิล9

พระอนิล10

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) พระอนิล3

พระอนิล4

พระอนิล5

พระอนิล6

พระอนิล8

พระอนิล11

พระอนิล12

พระอนิล13

พระอนิล14

พระอนิล15

พระอนิล16

พระอนิล7

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image