นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สพฐ.จัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) สอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 สิงหาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีการประกาศผลสอบไปเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุแต่งตั้ง โดยการจัดสอบครั้งนี้ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดรับสมัครรวม 216 แห่ง ใน 51 กลุ่มวิชา อัตราว่างที่เปิดรับ 8,061 อัตรา
นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับสมัคร รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ และ อ.ก.ค.ศ.สศศ.เปิดรับ 246 แห่ง รวม 4,113 อัตรา แบ่งเป็น รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 957 อัตรา และผู้อำนวยการสถานศึกษา 3,156 อัตรา เปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 15-21 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น มีผู้สมัครรวม 16,928 ราย แบ่งเป็น ผู้อำนวยการสถานศึกษา 9,310 ราย และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 7,618 ราย ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก วันที่ 24 สิงหาคม สอบข้อเขียนภาค ก ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ วันที่ 9 กันยายน ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกภาค ก และมีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ข และภาค ค ภายในวันที่ 13 กันยายน ยื่นเอกสารประกอบการประเมินภาค ข และภาค ค วันที่ 14-17 กันยายน ประเมินภาค ข ประวัติ ประสบการณ์ และผลงาน และประเมินภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วันที่ 18-22 กันยายน สอบสัมภาษณ์ วันที่ 23-24 กันยายน ประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 29 กันยายน บรรจุและแต่งตั้ง ภายในวันที่ 5 ตุลาคม
“สพฐ. กำชับให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดสอบและออกข้อสอบด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริต โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ จัดสอบ เท่าที่ได้รับรายงาน มีทั้ง สพท.ที่ออกข้อสอบเอง และบาง สพท.มอบให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ออกข้อสอบ ทั้งนี้อยากเตือนผู้เข้าสอบทุกคนไม่ให้หลงเชื่อกลุ่มตกเบ็ด หลอกว่าสามารถช่วยให้บรรจุแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาอ้างชื่อผู้บริหาร ว่าไม่มีเรื่องเหล่านั้นอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันขอกำชับให้ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯทุกคน อย่าไปเกี่ยวข้องกับการจัดคิวข้อสอบ เพราะหากตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการดังกล่าวอาจมีโทษทางวินัย” นายสุรินทร์ กล่าว