‘ผมมากับดวง’ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ฝ่ากระแสนักวิชาการหัวนอกสู่…’รมว.ศธ.’

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แทน “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ในโอกาสนี้ “มติชน” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบการทำงานของรัฐบาล *พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา* นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

๐พล.อ.ดาว์พงษ์ ฝากงานอะไรไว้บ้าง
“หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. พล.อ.ดาว์พงษ์ได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีช่วง 4 ทุ่ม และได้ฝากให้สานงานต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการควบรวม หรือยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 10,000 โรงเรียน มาบริหารจัดการภายใต้โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน หรือโรงเรียนแม่เหล็ก เดินหน้าโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แก้ปัญหาการเกลี่ยครู และนโยบายอื่นๆ ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ทำไว้ ซึ่งผมก็ยืนยันว่าจะสานต่อแน่นอน สิ่งที่ตั้งใจทำคือ ทำให้ภาพการทำงานในเรื่องต่างๆ ชัดขึ้น คมขึ้น อย่างกรณีโรงเรียนไอซียู ผมก็ได้เรียน พล.อ.ดาว์พงษ์โดยตรงว่าจะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก กลุ่มที่ไม่ต้องการยุบรวมกับโรงเรียนแม่เหล็ก ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ ประกาศไว้แต่แรกว่าหากโรงเรียนใดมีคนต่อต้านการยุบรวมแม้แต่คนเดียว ก็จะไม่ทำ ดังนั้น โครงการโรงเรียนไอซียูจะเข้ามาเสริม โรงเรียนเหล่านี้เปรียบเหมือนคนไข้ที่อาการโคม่า แต่อาจมีความจำเป็นที่ยังต้องคงอยู่ จึงต้องการการรักษา”

๐นโยบายเร่งด่วนในปี 2560 
“ในปี 2560 นี้ ผมไม่มีนโยบายอะไรเพิ่มเติมจากเดิม เพราะเหลือเวลาทำงานอีกเพียง 1 ปี ดังนั้น ตั้งใจจะสานต่อนโยบายเดิมที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ทำไว้ โดยเฉพาะการเร่งแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ข้อ คือ ยุทธศาสตร์ความมั่นคง, การสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน, การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, ลดความเหลื่อล้ำ, การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งได้ทำไปบ้างแล้ว อีกทั้ง ยังมีเรื่องที่ต้องทำเป็นภาคบังคับ คือ การทำกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ การเตรียมคณะกรรมการเพื่อปฏิรูปการศึกษา การเตรียมกองทุนการศึกษา เหลือเวลาอีกเพียงปีเดียว ตั้งใจจะทำให้เสร็จ

Advertisement

ที่สำคัญ ผมจะทำตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัสให้ ศธ.แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต้องทำอย่างเอาจริงเอาจัง โดยสิ่งที่ได้เดินเครื่องไปแล้วคือ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนที่มีอาการแย่ ต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน หรือโรงเรียนไอซียู 3,000 โรงเรียน มาเข้ารับการรักษา โดย สพฐ.จะต้องวิเคราะห์ว่าโรงเรียนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด และให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการ
โครงการนี้เดินตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสให้เริ่มต้นแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนไอซียูก่อน ผมว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว เป็นพรที่ประเสริฐที่สุด พระองค์ทรงเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2555 ทยอยทำมา 155 โรงเรียน ถึงเวลาแล้วที่ ศธ.จะต้องสานต่อพระราชปณิธาน ที่สำคัญต้องทำให้ขยายใหญ่เป็นหน้าที่ของเรา เรื่องนี้อยู่ในยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ และบางโรงเรียนอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้วย วางแผนไว้ว่าในปี 2560 จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ 3,000 โรงเรียน และเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในปีถัดไป

ที่ผ่านมา คนมักจะบอกว่า ศธ.รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งผมคิดว่าไม่ดี การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปที่ห้องเรียน ต้องปฏิรูปครู และเพื่อไม่ให้การพัฒนาอยู่เฉพาะด้านบน เราต้องลงไปพัฒนาโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ ดูจากผลประเมิน โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Students Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD หรือองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ พบว่าโรงเรียนที่ได้คะแนนประเมินต่ำส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนขยายโอกาส ที่ผ่านมานโยบายการพัฒนาต่างๆ มักจะลงไปไม่ถึงโรงเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งมีปัญหาหลากหลาย ทั้งปัญหาเด็กติดยา ขาดครู อุปกรณ์การเรียนการสอน ดังนั้น ผมจึงให้ช่วยกันวินิจฉัยว่าเขาป่วยหนักด้วยอะไร ก็เข้าไปช่วยตรงนั้น”

๐นโยบายปราบปรามทุจริต
“ยุคผมจะลงไปดู ไม่ปล่อยไว้ แต่เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมที่ดูแลเรื่องนี้ต้องหมดวาระไปพร้อมกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดูแล ผมต้องฟังก่อนว่าปัญหาคืออะไร เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยได้เข้าไปดูอย่างจริงจัง เร็วๆ นี้ จะนัดผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน จากนั้นจะมีความชัดเจนขึ้นว่าจะแก้อะไร อย่างไร ที่สำคัญตั้งใจจะสอนให้เด็กเกลียดการโกง เป็นการแก้ปัญหาคอรัปชั่นในระยะยาว”

Advertisement

๐นโยบายด้านอุดมศึกษา
“ตามโรดแมป ผมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมยกร่าง พ.ร.บ.กระทรวงอุดมศึกษา โดยตั้ง นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นประธาน ทั้งนี้ ในช่วงที่ พล.อ.ดาว์พงษ์เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเตรียมการยกร่างกฎหมายดังกล่าวไว้บ้างแล้ว เพียงแต่ให้เป็นการเตรียมความพร้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของผมเป็นการมาสานต่อ แต่มีความเห็นชัดเจนว่าต้องแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ.เพื่อให้การทำงานมีอิสระ มีความคล่องตัว และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอุดมศึกษา ซึ่งผมฟันธงเพราะเป็นความเห็นของประชาคม ไม่มีใครที่คิดไม่แยก
ที่ผ่านมา เคยมีการเตรียมความพร้อมยกร่างกฎหมายในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไว้บ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่รอบด้านเพียงพอ ดังนั้น จึงได้ขอให้นำกฎหมายต่างๆ ที่เคยยกร่างไว้ ทั้งในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … มาพิจารณารวมกัน เพราะแต่ละฉบับมีจุดอ่อน และจุดแข็งคนละอย่าง จึงอยากให้ดึงข้อดีของแต่ละฉบับมารวมกัน และยกร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาขึ้น เพื่อให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเสนอผมพิจารณาภายในปี 2560 ก่อนที่โรดแมปการทำงานของรัฐบาลนี้จะหมดลง ถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คณะกรรมการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.จะได้ไม่ต้องรวบอุดมศึกษาเข้ามาด้วย”

๐รู้ตัวก่อนหรือไม่ว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.
“รู้ล่วงหน้า 1 วันเหมือนคนอื่น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้บอกล่วงหน้า เป็นสไตล์ของนายกฯ พล.อ.ดาว์พงษ์เองก็ไม่ได้ส่งซิกเนลโดยตรง เพียงแต่บอกว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลง และถ้าเผื่อผมได้สานงานต่อ ก็อย่าลืมสานงานต่อ ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ก็คงบอกกับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แบบเดียวกัน”

๐หลายคนมองว่าก้าวกระโดดได้เร็ว
“ผมก็งงตัวเอง เลื่อนตำแหน่งปีละครั้ง จากผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.จนกระทั่งขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ปีนี้ ครั้งนี้ผมมองว่านายกฯ คงอยากได้คนที่เข้าใจมาสานงานต่อ เพราะโรดแมปรัฐบาลเหลือเวลาเพียง 1 ปี หากให้คนใหม่เข้ามาทำงาน นโยบายต่างๆ ก็อาจจะสะดุด”

๐มีหลายกระแสบอกว่าสนิทกับหลังบ้านนายกฯ
“ทุกคนสนิทกับนางนราพร จันทร์โอชา หรืออาจารย์น้อง ภริยานายกฯ หมดทุกคน พล.อ.สุรเชษฐ์ ก็สนิท ผมก็รู้จักอาจารย์น้องในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน อาจารย์น้องสนใจภาษาอังกฤษ เคยคุยกัน เคยให้คำแนะนำ แต่คงไม่ใช่ปัจจัยที่นายกฯ จะเลือกใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.”

๐ได้เคลียร์กับ พล.อ.สุรเชษฐ์หรือไม่
“พล.อ.สุรเชษฐ์กับผมสนิทกันมาก เวลานั่งประชุมเราจะนั่งติดกัน มีอะไรคุยกัน เลยไม่รู้จะเคลียร์อะไร วันที่ผมรับตำแหน่ง พี่น้อย (พล.อ.สุรเชษฐ์) ก็บอกว่ายินดีด้วยครับ ส่วนที่ผมเข้ามาดูแลการทำงานของ สพฐ.เองแล้วมีคนไปพูดว่าผมแย่งมา ก็ไม่จริง ซึ่งทุกคนอยู่ในเหตุการณ์ ผมให้เกียรติ พล.อ.สุรเชษฐ์ให้ดูแล สพฐ.ต่อ แต่ พล.อ.สุรเชษฐ์บอกว่าผมควรดูแล สพฐ.เพราะยุทธศาสตร์ที่ผมดูแลอยู่ต้องเชื่อมต่อกับ สพฐ.เพราะฉะนั้น เราอยู่กันแบบสุภาพบุรุษ”

๐กดดันหรือไม่เพราะถูกจับตามอง
“ไม่กดดัน การทำงานทุกอย่างต้องเรียนรู้ ผมมาเมืองไทย ก็ไม่คิดว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี และผมก็ไม่คิดว่าจะไต่เต้าปีละขั้น เรื่องนี้เป็นเหมือนดวง หาก พล.อ.ดาว์พงษ์ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ผมก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังนั้น ถ้าใครถามว่าทำไมผมก้าวขึ้นเร็ว ก็คงต้องบอกว่า ผมมากับดวง”

๐ถูกมองว่าเป็นนักวิชาการหัวนอก ไม่เข้าใจการศึกษาไทย?
“อยากให้ดูสิ่งที่ผมทำ และอยากให้ดูคอมเมนท์อีกด้านหนึ่ง ที่บอกว่าการอยู่ต่างประเทศนาน จะได้มีมุมมองที่มาช่วยเสริม และแก้ไขระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหา ที่สำคัญ ทำไมไม่มองว่าผมโตที่เมืองไทย ผมจบที่มหาวิทยาลัยเมืองไทย เพียงแต่หลังเรียนจบผมไปทำงานต่างประเทศนาน และทุกวันนี้ที่ผมทำนโยบายการศึกษา เพื่อให้การบริหารงานต่างๆ เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ที่ผ่านมาผมลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนว่าเขาต้องการอะไร เมืองนอกสอนผมอย่างหนึ่งคือ อย่าทึกทัก อะไรไม่รู้ ต้องบอกว่าไม่รู้ อย่าทำเป็นรู้ และต้องลงไปศึกษาให้รู้จริง ซึ่งเมื่อผมได้ลงไปดูโรงเรียนต่างๆ ผมกลับรู้สึกว่า นักวิชาการไทยที่อยู่บนหอคอย ไม่รู้จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image