เลขาฯ คุรุสภา คาดไม่ถึง คนแห่สอบตั๋วครูเต็มทุกสนาม แนะผู้พลาดหวังรอปี’67 เปิดสอบอีก 10 รอบ

เลขาฯ คุรุสภา คาดไม่ถึง คนแห่สอบตั๋วครูเต็มทุกสนาม แนะผู้พลาดหวังรอปี’67 เปิดสอบอีก 10 รอบ

กรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบบการรับสมัคร การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 4-22 กันยายน ผ่านระบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยหลังจากเปิดรับสมัครสอบไม่นาน พบว่าทุกสนามสอบเต็มทุกที่นั่ง เต็มทุกรอบ ทำให้มีผู้เสียสิทธิจำนวนมากนั้น

อ่านรายละเอียด : แห่วิจารณ์! สมัครสอบ #ใบประกอบวิชาชีพครู วันแรก ไม่กี่นาทีเต็มทุกที่นั่ง เว็บล่ม ทำคนเสียสิทธิจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ที่คุรุสภาได้รับสมัครการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ซึ่งมีการพัฒนาระบบเช่นเดียวกันการระบบการจัดสอบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สอบ 2 วิชา คือ วิชาครู และวิชาเอก โดยได้อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่พัฒนาระบบ จัดสอบที่ศูนย์สอบของ ก.พ.ทั้ง 5 ภูมิภาค สาเหตุที่ไม่สามารถใช้มหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นศูนย์สอบได้ เนื่องจากความพร้อมของระบบคอมพิวเตอร์แต่ละแห่งไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเลือกใช้มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบของ ก.พ.อยู่แล้ว

Advertisement

นางอมลวรรณกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การสอบครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 จัดให้สอบประมาณ 20,000 ที่นั่ง จำนวน 4 รอบ ได้แก่ วันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 13.00-16.00 น.วันที่ 12 พฤศจิกายน เวลา 13.00-16.00 น.วันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 13.00-16.00 น. และวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 13.00-16.00 น. ประกาศผลในช่วงเดือนธันวาคม และจะประกาศรับสมัครสอบอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2567 โดยจะจัดสอบอีกประมาณ 10 รอบ เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2567 รับสมัครวันที่ 6-21 มกราคม และจะสอบรวม 10 รอบ รอบแรกประมาณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ รอบ 2 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ รอบ 3 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ รอบ 4 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ รอบที่ 5 วันที่ 9 มีนาคม รอบที่ 6 วันที่ 10 มีนาคม รอบที่ 7 วันที่ 16 มีนาคม รอบที่ 8 วันที่ 17 มีนาคม รอบที่ 9 วันที่ 23 มีนาคม และรอบที่ 10 วันที่ 24 มีนาคม

“ทั้งหมดนี้เป็นปฏิทินการสอบครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2567 ที่คุรุสภา กำหนดจะจัดสอบให้ได้รอบละประมาณ 5,000 คน รวม 10 รอบ เท่ากับ 50,000 คน หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จะเปิดให้สอบได้ทุกเดือน ให้สอบได้ทั้งปี ฉะนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนไม่ทัน ไม่ต้องตกใจว่าคุรุสภาจะจัดสอบครั้งเดียว ยังจัดสอบอีกหลายรอบ และตั้งแต่ปี 2567 การสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ จะเกิดขึ้นทุกเดือน ทั้งนี้ ปฏิทินที่กำหนดไว้ยังเป็นเพียงการวางแผนเบื้องต้น เพราะต้องไปดูด้วยว่าช่วงเวลาที่กำหนดไว้ จะไปตรงกับการสอบของ ก.พ.หรือไม่ แต่คิดว่าปีหน้าจะจัดสอบได้หมดทั้งรวมกว่า 90,000 คน ถ้ารวมกับที่จัดสอบในปีนี้แล้ว 4 รอบ จะมีผู้เข้าสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯกว่า 100,000 คน ที่ผ่านมาอาจมีการสื่อสาร และทำให้เกิดการเข้าใจผิด คิดว่าจะจัดสอบเพียงครั้งเดียว ซึ่งไม่ใช่ ผู้สำเร็จการศึกษาสมัครสอบได้อีกครั้งเดือนมีนาคม ส่วนข้อสอบแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน รูปแบบข้อสอบจะแตกต่างกันไป โดยปีนี้จะสอบแบบมีตัวสถานการณ์เป็นตัวตั้ง เพื่อวัดสมรรถนะ เป็นต้น” นางอมลวรรณกล่าว

นางอมลวรรณกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข้อเสนอว่าไม่ควรให้ผู้เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปีที่ 3 และปีที่ 4 เข้าสอบด้วยนั้น ไม่อยากให้กันสิทธิ เพราะเข้าใจว่านักศึกษาเหล่านี้ก็อยากเข้าสอบ และมีคุณสมบัติครบที่จะสอบ ส่วนเหตุผลที่ต้องประกาศสอบเป็นรอบๆ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ข้อสอบ และรูปแบบการสอบแต่ละครั้งก็จะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ไม่กังวล เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไป และการที่นักศึกษามีข้อสงสัยว่าทำไมสอบที่สถาบันการศึกษาของตัวเองไม่ได้ แต่ต้องไปสอบที่ศูนย์สอบ เพราะการสอบต้องใช้ศูนย์สอบที่มีคุณภาพ มีระบบการป้องกันกันทุจริต และการสอบจะใช้เกณฑ์เดียวกับ ก.พ.ทุกอย่าง มีการตรวจสอบสนามสอบในเชิงลึก นักศึกษาไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้สอบ เพราะการสอบมีหลายรอบ

“ส่วนกรณีที่หลังเปิดรับสมัคร พบว่าทุกสนามสอบมีผู้สมัครเต็มอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก โดยระบบสแตนด์บายไว้รองรับคน 50,000 คนต่อวินาที แต่มีผู้สมัครสอบเกินเป้า ฉะนั้น ระยะยาวอาจมีแผนการขยายสนามสอบ แต่ต้องขอตรวจสอบคุณสภาพสนามสอบก่อน” นางอมลวรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image