‘รบ.เศรษฐา’ ชูการอ่าน สร้างอนาคต-รายได้?

‘รบ.เศรษฐา’ ชูการอ่าน สร้างอนาคต-รายได้?

แถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้วเป็นวันแรก 11 กันยายน สำหรับก้าวแรกของรัฐบาลใหม่ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวเรือใหญ่

ที่มุ่งเน้นประเด็นเศรษฐกิจอันเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย

ทว่า อีกหนึ่งด้านที่ไม่อาจหลงลืมได้ นั่นคือ การศึกษา ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการขับเคลื่อนเม็ดเงินในกระเป๋า อันมี การอ่าน เป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ และมีหนังสือ เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลัก

Advertisement

โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐาได้ประกาศนโยบายปฏิรูปการศึกษา สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้

“การเรียนรู้ของคนจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ยั่งยืน ช่วยหนุนเสริมนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และต่อยอดต่อไป”

คือมุมมองของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่ย้ำว่า การอ่านคือพื้นฐานการเรียนรู้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นประเด็นที่รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการเรียนรู้ แม้นโยบายที่แถลงจะไม่ได้พูดถึง การอ่าน อย่างชัดเจน ส่วนตัวมองว่ามี 2 ส่วนที่สัมพันธ์กัน

ส่วนแรก รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ประชากรทุกช่วงวัยได้ อย่างในอดีตมีองค์กรอย่าง ทีเค พาร์ค (TK Park อุทยานการเรียนรู้) และ OKMD หรือ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่ช่วยให้เกิดการสร้างการเรียนรู้

สิ่งที่ตามมา คือ เรื่องของพื้นที่ของห้องสมุดต่างๆ ซึ่งสามารถใช้นโยบายในการผลักดันให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าไปใช้พื้นที่ เกิดความสนใจที่จะเข้าไปค้นหา ขวนขวายหาความรู้ต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการอ่าน

นำมาสู่ส่วนที่ 2 คือ หนังสือ ซึ่งรัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ได้

“มีหลายคนก็พูดถึงราคาหนังสือที่อาจมีราคาสูงเกินกว่าที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากตลาดหนังสือในประเทศไทยที่ไม่ได้ใหญ่มากพอที่จะทำให้มีราคาย่อมเยา ในส่วนนี้รัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อการอ่าน และการสนับสนุนการแปลผลงานและการจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นภาระหน้าที่ของหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทวงวัฒนธรรมก็ดี กระทรวงศึกษาธิการก็ดี หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี ในการที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ที่จะช่วยให้การอ่านและการเรียนรู้นั้นเชื่อมโยงและหมุนเวียนกันไป” อนรรฆกล่าว

ไม่ถามไม่ได้ ว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ในรัฐบาลเศรษฐา 1 ตรงสเปกหรือไม่ ?

อนรรฆ ตอบว่า เพิ่งมาใหม่ ต้องให้เวลา

“ก็คงต้องให้เวลาในการขับเคลื่อนตัวนโยบายก่อน อยากฝากประเด็นในแง่ของการอ่านและการเรียนรู้ ซึ่งกระทรวงการศึกษาธิการ มักถูกมองว่าดูแลเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ความจริงครอบคลุมถึงพื้นฐานของการผลักดันการเรียนรู้ ซึ่งมีการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ เลยอยากฝากในเรื่องนี้ให้พิจารณาว่าจะมีการส่งเสริมการอ่านทั้งในระดับนักเรียนและประชากรทุกช่วงวัยอย่างไร

“กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของห้องสมุดจำนวนมากในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างไรให้เกิดการเข้าถึงหนังสือที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม” กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์กล่าว

เมื่อถามถึงประเด็น การเรียนรู้ตลอดชีวิต อนรรฆเผยว่า ต้องทำงานแบบข้ามกระทรวง พร้อมย้ำว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะ แต่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศซึ่งมี การอ่าน เป็นปัจจัยสำคัญ

“การเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ในหลายกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มันต้องคุยกันในหลายกระทรวง เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ตอบทักษะส่วนตัวของกลุ่มประชากร ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ตอบความต้องการส่วนบุคคล แต่ตอบความต้องการของประเทศชาติ ที่ต้องการคนคุณภาพ สามารถสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจสังคมให้กับประเทศได้ และเศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้เลย ถ้าทัศนคติประชาชนในสังคม ไม่ได้มีมายด์เซตที่ต้องการแสวงหาการเติบโต การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การเรียนรู้ของคนจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ยั่งยืน ช่วยหนุนเสริมนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และต่อยอดต่อไป”

ความเห็นของ อนรรฆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สอดคล้องพอดิบพอดีกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ รวมถึงการประกาศปฏิรูปการศึกษา สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ไว้ในเป้าหมายระยะกลางและระยาว พร้อมให้คำมั่นว่า จะเป็น 4 ปีที่แห่งการวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยยึดหลักนิติธรรม

ส่วนประเด็น เหลื่อมล้ำ นั้น ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผลักดันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มองว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นสร้าง พลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ไม่ควรมองแค่ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องสิทธิ ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าหรือรายได้ หากแต่การตระหนักรู้จะนำไปสู่เกิดการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจและสังคม แบบที่พิสูจน์แล้วในหลายประเทศว่าสังคมที่เสมอภาคเติบโตได้ดีกว่า สังคมที่เหลื่อมล้ำ

เมื่อถามว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน รัฐบาลสามารถที่จะส่งเสริมให้มีความเป็นพลเมืองได้อย่างไร การอ่าน ช่วยได้มากน้อยเพียงใด ?
ษัษฐรัมย์ ตอบชัดทันทีว่า ทั้ง 2 อย่างต้องไปด้วยกัน ทั้งการที่รัฐบาลจะจัดแมททีเรียล การลดหย่อนภาษีหนังสือ ก็จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ราคาถูก

“แต่เรื่องใหญ่ที่สำคัญ ก็เหมือนกับเรื่องเด็ก คือถ้าเด็กท้องหิว หรือไม่มีเงินไปเรียน สุดท้ายแล้วระบบการศึกษาก็จะพังลงไป เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากให้คนสามารถต่อยอดความรู้ต่างๆ ได้ เราต้องทำให้คนว่าง ต้องหาทางลดชั่วโมงการทำงานของคน เพิ่มค่าจ้างต่อชั่วโมงของเขาให้สูงขึ้น โดยที่เรื่อง Upskill Reskill จะเกิดขึ้นได้เอง ถ้าคนว่าง มั่นคง ปลอดภัย คนก็จะสามารถวางแผนตัวเองไปอยู่ในเซ็กเตอร์ที่มันมีมูลค่าสูงมากขึ้นได้ แต่ถ้ายังคนต้องทำงาน ทำโอทีเพื่อใช้หนี้นอกระบบแบบที่เป็นอยู่ ต้องทำงาน 40-50 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อใช้หนี้ หรือจ่ายปัจจัยพื้นฐาน ก็พัฒนาสกิลไม่ได้อยู่ดี” ษัษฐรัมย์ อธิบาย ก่อนทิ้งท้ายว่า เรื่องเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกัน

การพัฒนาคุณภาพคน 1 คน เกี่ยวพันกับเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางสังคมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image