เปิด อีเมล์’สามี’ทพญ.หนีทุน อ้างถังแตก เย้ยไร้ประโยชน์ฟ้องร้อง แถมเสียค่าทนายสูงลิ่ว แนะรอมชอมยืดชำระหนี้

ความคืบหน้ากรณี ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ 1 ใน 4 ผู้ค้ำประกัน ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ที่ขอทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบายความในใจกรณีต้องชดใช้หนี้ 2 ล้านบาท จากการเซ็นค้ำประกันให้ ทพญ.ดลฤดี หลังจากที่ ทพญ.ดลฤดี เรียนจบแล้วไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุน และไม่ยอมชำระเงินชดใช้ทุน ทำให้ ทพ.เผด็จ และผู้ค้ำรวม 4 คน ต้องใช้หนี้จากการเซ็นค้ำประกัน 8 ล้านบาท โดยหลังจาก มม.ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการคณะทันตแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด ตามช่องทางที่ ทพ.เผด็จ เสนอแนะ แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบหาย ทาง ทพ.เผด็จ จึงร่วมกับ 3 ผู้ค้ำประกัน มอบหมายให้คนไทยในสหรัฐ ร่างคำฟ้องมอบทนายความในสหรัฐ ฟ้อง ทพญ.ดลฤดี นั้น

ทพ.เผด็จเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คนไทยในสหรัฐได้อีเมล์สอบถามสามีของ ทพญ.ดลฤดี ถึงกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งจากอีเมล์ที่สามีของ ทพญ.ดลฤดี ตอบกลับว่า สะท้อนว่ารู้เห็นการกระทำของ ทพญ.ดลฤดีทุกอย่าง เท่ากับว่าสนับสนุนการกระทำของเธอ

“เขาบอกว่าเขารู้ทุกอย่าง เขาบอกว่าเขามีภาษีอะไร มีค่าใช้จ่ายอะไร ซึ่งถ้ามีหนี้สินจะต้องชดใช้ ทำไมรีบซื้อบ้าน ทำไมไม่ใช้หนี้ก่อน แล้วเรื่องที่เขาพูดว่าต้องเสียภาษีเยอะ ใช่…ที่สหรัฐเสียภาษีเยอะแต่เขาก็สามารถขอ Refund (ขอคืน) ภาษีได้ เวลาเขาพูด เขาพูดในแง่ที่ทำให้ดูดีซึ่งคนที่ไม่มีความรู้ ก็จะรู้สึกว่าน่าสงสาร” ทพ.เผด็จกล่าว

 

Advertisement

 

ดลฤดีหนีทุน

 

Advertisement

ดลฤดีหนีทุน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ทพ.เผด็จ ได้โพสต์รายละเอียดอีเมลเป็นภาษาไทยที่แปลโดยคนไทยในอเมริกา เนื้อหาว่า

จดหมายจากดลฤดีและสามี
ฉันก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถตกลงกันได้ด้วยดีเช่นกัน
จากที่คุณที่เรียกร้องสามีดิฉันให้อธิบายถึงสัญญาที่สามารถตกลงกันได้นั้น เขาได้อธิบายตามด่างล่างนี้ ฉันยังมีความหวังว่าผู้ค้ำประกันจะสามารถตกลงกับเราได้

ผมไม่ได้ยื่นเสนอเวลาชำระอย่างชัดเจน ผมได้ชี้แจงอย่างหนักแน่นแล้วว่า เรื่องที่ทอมและติ๊คเรียกร้องให้ชำระใน 2.5 ปีนั้น ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ ผมขออธิบายตัวเลขคร่าวๆเพื่อเป็นตัวอย่าง และขอเน้นอีกครั้ง

จากภาวะการเงินของเรา ณ ขณะนี้ รายได้ของพอร์ชหลังหักภาษีรายได้รัฐบาลรวมและภาษีรายได้รัฐที่ทางผู้ว่าจ้างจะหักแล้ว ที่เหลือจะนำไปชำระค่าสถานเลี้ยงเด็กของลูกของเรา และเงินกู้ซึ่งเธอได้กู้มาจำนวน 5 หมื่นเหรียญนั้น ได้ถูกโอนไปให้ติ๊คแล้ว ก่อนที่เราจะมีลูก และก่อนที่ผมกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน รายได้ของเธอนั้นได้นำไปชำระค่าเช่าบ้านและค่าทนายที่ดำเนินเรื่องในเรื่องกรมตรวจคนเข้าเมือง ในช่วงเวลา 3 ปี เธอไม่ได้มีรายได้เลย และไม่มีทรัพย์สินด้วย และผมเป็นผู้ที่ดูแลอุปการะเธอในช่วงนั้น ซึ่งก็ทำให้ทรัพย์สินของผมก็ลดลงด้วย

รายได้ของผมหลังจากหักภาษีรายได้ หักค่าประกันสุขภาพ (รัฐบาลบังคับให้ทุกคนซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งหมายถึงต้องชำระภาษีเพิ่ม) ทำให้รายได้ผมลดลง 1,100 เหรียญ และรายได้ที่เหลือผมก็ต้องทำไปจ่ายค่าผ่อนบ้านของเรา ซึ่งเป็นบ้านที่ผมซื้อโดยที่พอร์ชไม่ได้ร่วมชำระค่าเงินดาว์นบ้าน การที่ผมซื้อก็เพื่อที่ว่าผม ภรรยาและลูกจะได้อยู่ในเมืองเดียวกัน การกู้เงินในการผ่อนบ้านนั้น ธนาคารได้อนุมัติโดยดูจากรายได้ของผม รายได้จากการขายคอนโด และรายได้ของพอร์ช (ซึ่งเมื่อก่อนจะใช้ในการชำระเป็นค่าเช่าบ้าน ซึ่งตอนนั้นเรานึกว่าจะสามารถนำเงินส่วนนี้มาชำระผ่อนบ้านแทน และหลักจากมีลูกแล้วเงินส่วนนี้ก็นำไปชำระค่าสถานเลี้ยงเด็กแทน เพื่อที่เธอจะได้ไปทำงานได้ – ถ้าไม่จ่ายค่าสถานเลี้ยงเด็ก ก็ไม่สามารถทำงานมีรายได้ …. ถ้าไม่ทำงาน ก็ไม่สามารถชำระค่าผ่อนบ้าน หรือขอเงินกู้เพิ่มได้) หลังจากที่ทางเราได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า เราได้ทำทุกวิถีทางในการหาเงินกู้ชำระให้กับผู้ค้ำประกันพอร์ช แต่ทางเราก็ได้รับการปฏิเสธการกู้ เพราะรายได้ของพอร์ชเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือแค่ศูนย์ และของผมก็ติดลบ

ผมได้ชี้แจ้งแล้วว่า หลังจากขายคอนโดของผมแล้ว ( ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับพอร์ช และเธอก็ไม่มีชื่อเป็นเจ้าของ ฉะนั้นก็จะไม่นับเป็นทรัพย์สินที่ทางผู้ค้ำประกันจะหวังว่าจะฟ้องร้องได้ ) และผมได้เซ็นสัญญากับธนาคารว่ารายได้จากการขายคอนโดจะใช้ค้ำเงินกู้ในการซื้อบ้านใหม่ ผมคิดว่าหลังขายคอนโดนแล้วคงจะเหลือประมาณ 5 หมื่นเหรียญหลังจากหักค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเครื่องทำความร้อนและระบบแอร์ที่เก่า 17 ปี และหักค่าใช้จ่ายซ่อมแซมคอนโดชั้นล่างที่เสียหายจากน้ำรั่วจากยูนิตเรา และค่าซ่อมแซมอื่นๆที่จะทำให้คอนโดดูดีขึ้นเพื่อง่ายในการขาย และรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขนย้ายสิ่งของของผมด้วย ถ้าผมรีบขายโดยการลดราคา เงินคงเหลือที่กล่าวไว้ข้างต้นก็จะลดลงยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าจะสามารถชำระคืนผู้ค้ำประกันน้อยยิ่งขึ้น

จากการคำนวณคร่าวๆ ถ้าผมให้เงินเหลือที่ได้จากการขายคอนโด 5 หมื่นเหรียญ และยังเหลืออีก 150,000 เหรียญที่ต้องชำระภายใน 2.5 ปี (30 เดือน) ตามที่เรียกร้องนั้น ก็คือ 150,000 หาร 30 เดือน ก็เท่ากับ 5 พันเหรียญต่อเดือน ถ้าจำนวนเงิน 5 พันเหรียญหลักหักภาษีรายได้แล้ว ก็หมายถึงรายได้ต่อปี 6 หมื่นเหรียญหลังหักภาษี ซึ่งก็สูงกว่ารายได้เฉลี่ยอเมริกันของ 2 คนที่ทำงานเต็มเวลา คุณไม่สามารถเถียงผมได้จากตัวเลขเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผมและภรรยาไม่สามารถชำระเงินได้จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
นอกเหนือจากนั้น ตัวเลขเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายคร่าวๆรายเดือนของผม

ค่าส่วนกลางคอนโด 727.09
ภาษีที่ดินคอนโด 400 (4800 ต่อปี)
ค่าไฟ 180
ค่าน้ำ/ค่าบำบัดน้ำทิ้ง 300 (3600 ต่อปี)
ค่าแก๊สโพรเพน ( เพื่อทำอาหารและเพื่อทำน้ำอุ่น) 300 (ช่วงหน้าหนาวจะมาก ช่วงหน้าร้อนจะน้อย 3600 ต่อปี)
ค่าซ่อมแซมรถและค่าน้ำมัน 400 ( จริงๆแล้วผมต้องจ่าย 5 พัน- 6 พันเหรียญอาทิตย์นี้ เพราะได้ทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถที่เก่า 18 ปีของผม เพราะสายพานรถยนต์เสีย ทำให้เครื่องยนต์เสียตาม ซึ่งเป็นรถยนต์คันเดียวของเรา ขอย้ำอีกครั้งว่ารถคันนี้ผมซื้อก่อนที่จะรู้จักกับพอร์ช ซึ่งรถนี้ไม่มีชื่อเธอเป็นเจ้าของร่วม)
ค่าอาหาร 600
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ค่าผ้าอ้อม ค่าดูแลบ้าน ฯลฯ) 500
ค่าประกันอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธนาคารเรียกร้องให้ซื้อ 1500 ต่อค่าประกันรถยนต์ 1100 ต่อปี

ถูกต้อง หลังจากขายคอนโดแล้ว ค่าส่วนกลางคอนโดและภาษีที่ดินคอนโดก็ไม่ต้องชำระต่อไป แต่เชื่อผมเถอะ ผมก็อยากจะขายคอนโดโดยเร็วที่สุดอยู่แล้ว เพราะรำคาญที่ยังต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้ ปัญหาก็คือผมไม่สามารถจะลางานได้หนึ่งเดือนและเงินเดือนหายหนึ่งเดือนจากการลา และยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆอีก ถ้าผมไม่มีงาน สุดท้ายก็ไม่สามารถชำระเงินคืนผู้ค้ำประกันได้

ถ้าผู้ค้ำประกันจะดำเนินการตามกฎหมายก็จะไม่ได้อะไรเลยจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งทางเราก็จะต้องวางมัดจำค่าทนายล่วงหน้า ซึ่งก็จะทำให้เงินของเราลดลง ซึ่งทางเราก็คงจำเป็นต้องยื้อคดีให้นานที่สุด เพราะทนายของเราก็อยากจะได้รับการชำระค่าใช้จ่ายเช่นกัน) และถึงกระนั้นคุณจะได้รับเงินก็ต่อเมื่อคุณชนะคดีเท่านั้น ผู้ค้ำอาจจะต้องวางมัดจำค่าทนายล่วงหน้า และผมก็เชื่อว่าทางทนายคงจะเรียกร้องไม่ต่ำกว่า 33% ของมูลค่าคดี

สุดท้าย ถึงผู้ค้ำประกันชนะคดี ก็จะสามารถเรียกร้องได้แค่จำนวนเงินที่เหลือจากรายได้เราหลังหักค่าใช้จ่ายซึ่งผมได้แจกแจงข้างต้นแล้ว ทอมกับติ๊คคงจะไม่พอใจกับความจริงข้อนี้ แต่ความจริงก็คือความจริง และพวกเขามีทางเลือกแค่ทางเดียว พวกเขาจะทำการตกลงกับเรา หรือพวกเขาจะดำเนินคดีซึ่งอาจจะใช้เวลา 3-5 ปี และถึงกระนั้นก็จะเริ่มได้รับการชำระหนี้หลังจากคดีสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ระยะเวลาชำระหนี้ก็แล้วแค่ทางศาลพิจารณาอย่างเหมาะสม ซึ่งก็เป็นระยะเวลาที่เท่ากับทางผมพยายามจะเสนอคุณ เรื่องคดีจะไม่มีผลต่อผม เพราะสุดท้ายผมก็สามารถให้ได้แค่เท่าที่ผมมีเหลือ (ไม่ว่าพวกเขาจะยอมรับข้อเสนอของผมตอนนี้โดยเร็ว หรือจะดำเนินคดีโดยการหักเงินเดือนของเราในอนาคต ข้อแตกต่างก็คือพวกเขาอยากได้เงินคืนเร็วเท่าไหร่ และพวกเขาอยากได้เต็มจำนวน หรือว่าอยากได้หลังจากดำเนินฟ้องร้องชนะคดีแล้วและยังต้องหักค่าทนาย หรือว่าไม่ได้รับอะไรเลยถ้าไม่ชนะคดี) และระยะเวลาในการได้รับชำระ ซึ่งถ้าดำเนินคดีก็อาจจะนานยิ่งขึ้น
ทอมและติ๊คอาจจะรู้สึกอยากแก้แค้น แต่คนที่พวกเขาทำร้ายคือตัวพวกเขาเอง ถ้าวิเคราะห์ตามเหตุผลก็จะออกมาในรูปแบบเดียวกัน 

ดลฤดีหนีทุน

ด้านนายสรายุทธ กันหลง ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า จากจดหมายที่สามีของ ทพญ.ดลฤดี ตอบกลับคนไทย ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ตนสรุปได้ดังนี้ 1.ได้ให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือนว่า 2 คน รวมกันไม่สามารถคืนเงินได้ตามที่ผู้ค้ำประกันต้องการ 2. ทพญ.ดลฤดี ไม่มีทรัพย์สินในสหรัฐ คอนโดฯ เป็นของสามีและเป็นหลักค้ำประกันซื้อผ่อนบ้านใหม่ 3.ที่ผู้ค้ำประกันต้องการเงินคืน 200,000 เหรียญสหรัฐ โดยจ่าย 50,000 เหรียญจากการขายคอนโดฯ และอีก 150,000 เหรียญผ่อนส่ง 3 ปีนั้น สามีของ ทพญ.ดลฤดีบอกว่าเป็นไปไม่ได้ และ 4.ถ้าผู้ค้ำประกันต้องการฟ้องร้องเพราะต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองถูกต้อง (vindicated) ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคดีต้องอยู่ในศาลนานหลายปีและไม่แน่ว่าผลจะออกมาอย่างไร และก็จะไม่มีเงินจ่ายมากเพราะต้องเสียค่าทนายมากกว่า 33% ของวงเงินที่ฟ้องร้องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ “มติชน” ได้อีเมล์ถึงผู้ตรวจการคณะทันตแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด เพื่อสอบถามความคืบหน้ากระบวนการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการตอบกลับจากผู้ตรวจการฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image