‘บิ๊ก ร.ร.’ ชงฟันวินัยครูก่อหนี้ฟุ่มเฟือย แนะ ก.ค.ศ.-สพฐ.ออกระเบียบคุมเข้ม

‘บิ๊ก ร.ร.’ ชงฟันวินัยครูก่อหนี้ฟุ่มเฟือย แนะ ก.ค.ศ.-สพฐ.ออกระเบียบคุมเข้ม

นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีครูทั้งระบบกว่า 9 แสนคน ยอดหนี้รวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.9

นายณรินทร์กล่าวว่า ตามมาด้วย ธนาคารกรุงไทย 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.12 และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 6.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.4 ทั้งนี้ หนี้สินครูเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานทุกรัฐบาล พยายามแก้ไข แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ เนื่องจากไม่รู้สภาพที่แท้จริงของหนี้สินครู สภาพโดยรวมของหนี้สินครูมีหลายลักษณะ เพราะมีทั้งลูกหนี้ชั้นดีและมีเป็นส่วนน้อยที่เป็นหนี้เสียก่อให้เกิดปัญหา และคนกลุ่มนี้ก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นขอเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้สินที่สามารถทำได้เป็นรูปธรรมและมีความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า แนวทางสำคัญอยากให้มีการสำรวจสภาพหนี้ แบ่งเป็น 1.หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะไม่เป็นปัญหาในการชำระหนี้ 2.หนี้เพื่อการสร้างอนาคต คืนหนี้ที่กู้ไป สร้างบ้าน ซื้อรถ เรียนต่อ เป็นหนี้สินที่ครูสามารถชำระได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา รัฐบาลไม่ต้องดำเนินการแก้ไขอะไร 3.หนี้สินที่เกิดก่อนมาเป็นครู เช่น เงินกู้เรียน เมื่อมาเป็นครูแล้วสามารถชำระหนี้ได้ แต่ก็ควรมีการติดตามเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ใหม่

Advertisement

นายณรินทร์กล่าวอีกว่า 4.หนี้ในการเลี้ยงดูบิดามารดา หนี้สินประเภทนี้รัฐบาลก็ไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้ว แต่ควรติดตามกำกับไม่ให้ก่อให้เกิดหนี้ใหม่ 5.หนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัยทางการเงิน หนี้สินเกิดจากการฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน เช่น หวย ลอตเตอรี่ หนี้สินประเภทนี้ทำให้ครูหมดอนาคตและไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ รัฐบาลควรเข้าไปดำเนินการแก้ไข และ 6.หนี้สินที่เกิดจากภาระการค้ำประกันทำให้ครู ไม่มีความสามารถในการชำระได้ เป็นหนี้ที่เกิดจากความประมาท ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือแก้ไข

นายกสมาคม ส.บ.ม.ท.กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแก้ไข มีดังนี้ โดยหนี้สินที่เกิดจากความไม่มีวินัยให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการรวบรวมหนี้สินทั้งหมดของหนี้สินที่อยู่ในข้อนี้ แล้วจัดสรรลำดับความจำเป็นในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสถาบันการเงินทุกสถาบันที่เป็นเจ้าหนี้ และได้รับความร่วมมือจากครูที่เป็นหนี้ ตามข้อนี้โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูดำเนินการหาทางแก้ไข ซึ่งมีแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้อยู่แล้ว เน้นว่าต้องสร้างวินัยทางการเงินและไม่สร้างหนี้สินใหม่

Advertisement

นายกสมาคม ส.บ.ม.ท.ระบุว่า ส่วนหนี้สินที่เกิดจากการค้ำประกันถือว่าไม่ได้เกิดจากความฟุ่มเฟือย หรือยากจนมาแต่อดีต แต่เกิดจากความหวังดีต่อบุคคลต่างๆ ในการเป็นผู้ค้ำประกันให้กับเพื่อนครูด้วยกัน ให้กับญาติพี่น้อง ควรจะต้องมีการดำเนินการแก้ไขแตกต่างไปจากกลุ่มอื่น โดยแก้ไขกฎหมายการค้ำประกันว่าสถาบันการเงินผู้เป็นเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการบังคับให้ผู้กู้ชำระหนี้จนถึงที่สุดก่อน ถ้าผู้กู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้จริงก็ควรจะสืบทรัพย์ไปถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวตัวเองก่อนจะมาบังคับคดีเอากับครูผู้ค้ำประกัน และเมื่อดำเนินตามสืบทรัพย์จากครอบครัวแล้ว ผู้กู้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ควรมอบหมายให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูดำเนินการหาแนวทางในการช่วยครูชำระหนี้

“ส่วนแนวทางแก้ไขหนี้สินครูอย่างเป็นระบบมีดังนี้ ควรเรียกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของครูทั้งหมดมาทำข้อตกลงในเรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่สามารถชำระได้ รวมทั้งการรวมหนี้สินให้อยู่ในสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลัก ควรให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมหนี้ รวมถึงต้องสร้างวินัยทางการเงินให้กับครู อบรมสร้างจิตสำนึกให้ครูตระหนักในการใช้เงินอย่างพอเพียงกับฐานะของตนเอง ตั้งคณะทำงานกำกับลูกหนี้ โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินอื่นๆ ในการไม่ปล่อยให้ครูไปก่อหนี้สินใหม่ขึ้นมาอีก

“ให้นำเรื่องหนี้สินครูมาเป็นตัวชี้วัดในการดำเนินการทางวินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพครูในกรณีนี้ จะต้องใช้กับคุณครูที่ไม่มีวินัยทางการเงิน กรณีนี้จะต้องพึ่งพาหน่วยงานในระดับสูง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกกฎหมายระเบียบ เพื่อควบคุมกำกับ วินัย ของบุคลากรครู มีบทลงโทษครูที่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย เชื่อว่าจะทำให้ครูไม่กล้าที่จะก่อให้เกิดหนี้ที่เป็นการไม่เหมาะสมกับวิชาชีพครู เช่น การเล่นการพนัน ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายอยู่แล้ว หรือการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว” นายณรินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image