อ.จุฬาฯ ชี้ ‘คำขวัญวันเด็ก’ไม่สอดคล้องสิทธิเด็ก แนะกำหนดคุณลักษณะให้ชัดเจน พัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มกราคม ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ เครือข่ายเยาวชน 4 ภูมิภาค จัดเวทีเสวนาตีโจทย์คำขวัญวันเด็ก 60 เด็กไทยจะมีส่วนใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง อย่างไร โดยภายในงาน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ จากปี 2499-2560 สะท้อนอะไรในสังคมไทยว่า คำขวัญวันเด็กนั้นมีที่มาและรากฐานมาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหลักการสากลอันเน้นเรื่องสิทธิการอยู่รอด สิทธิการได้รับการคุ้มครอง สิทธิการได้รับการพัฒนา และสิทธิการมีส่วนร่วม ซึ่งคำขวัญวันเด็กจะเป็นสิ่งที่เน้นเรื่องคุณลักษณะพึงประสงค์ คุณธรรม ของเด็ก ต่างจากการเรียนในห้องเรียนที่เน้นแต่ความรู้ แต่เรายังห่างไกลจากเป้าหมายต่างๆ มาก การตั้งคำขวัญวันเด็กของเรากลับสะท้อนทัศนคติและบุคลิกของนายกรัฐมนตรีแต่ละคน และสิ่งที่ผู้นำแต่ละคนอยากให้เด็กเป็นมากกว่าการสร้างคุณลักษณะของเด็กจริงๆ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ปี 2499 เป็นต้นมา พบว่ามีคำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำในคำขวัญวันเด็กอยู่ 6 คำ คือ 1.วินัยและการเรียน จำนวน 18 ครั้ง 2.ชาติ 17 ครั้ง 3.คุณธรรม 15 ครั้ง 4.ขยัน 11 ครั้ง 5.ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง และ 6.ประชาธิปไตย 4 ครั้ง แตกต่างกันไปตามความคิดของผู้นำ และสะท้อนภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในยุคนั้นๆ อย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีคำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” ขณะที่คำขวัญสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า” สะท้อนความเด็ดขาดของผู้นำ สำหรับคำขวัญของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นคนนิยมความเป็นไทย แสดงออกผ่านคำขวัญที่ว่า “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม” ขณะที่สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่พูดเรื่องสมัยใหม่ในคำขวัญ ” เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี” สำหรับนายกฯชวน หลีกภัย เป็นคนเดียวที่กล่าวถึงหลักความเป็นประชาธิปไตยถึง 4 ครั้งว่า “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำขวัญวันเด็กเน้นความมีวินัย ชาติ ศาสนา เช่น “คุณธรรม ชาติ มั่นคง”

“จะเห็นได้ว่าคำขวัญวันเด็กไม่มีความต่อเนื่อง และไม่สอดคล้องกับสิทธิเด็กจริงๆ ทั้งยังไม่มีเอกภาพ เป็นปีต่อปี และไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างคุณลักษณะเหล่านั้น เช่น คำว่าวินัย และคุณธรรมที่ล้มเหลว หรือไม่มีการสร้างประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของเด็ก เพราะฉะนั้นเราจึงควรกำหนดคุณลักษณะของคนในชาติที่ชัดเจน เช่น ญี่ปุ่น ที่กำหนดคุณลักษณะไว้ 10 ด้าน เช่น ตรงเวลา มีวินัย ทำงานเป็นทีม หรือสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าหมายเด็กชัดเจน นอกจากนี้ต้องส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของเด็ก พาเด็กออกนอกห้องเรียน มีโครงการต่างๆ ให้เด็ก ซึ่งจะช่วยปลูกฝังเรื่องการทำงานเป็นทีม สร้างคุณธรรม รู้จักตรงเวลาจากการกระทำจริง ซึ่งเด็กจะซึมซับได้มากกว่าการบ่นและพูดที่เดี๋ยวก็ผ่านไป” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image