อ.ประวัติศาสตร์ศิลป์สำรวจ “เสมาอีสาน” กว่า10ปี ก่อนคว้ารางวัลงานวิจัยจากวช.-เผยสนใจเพราะ “เรียบง่ายแต่เข้าใจยาก”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้อนุมัติรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2559 และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 แล้ว จำนวน 108 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 8 ราย ใน 6 สาขาวิชาการ รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 30 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 36 รางวัล และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 34 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับรางวัลจะเข้ารับรางวัลในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560  ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2560  โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลคือ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งได้รับรางวัลงานวิจัยระดับดีมาก สาขาปรัชญา จากงานวิจัยเรื่อง “หลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย”

รศ.ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า เริ่มสนใจและเริ่มสำรวจใบเสมารวมถึงหลักหินตั้งแต่ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอีสาน มีการพบในปริมาณมาก แต่มีผู้ศึกษาน้อย ต่อมาได้รับงบประมาณสำหรับทำงานวิจัยใน พ.ศ.2555 จึงเริ่มลงมือทำโดยใช้เวลาเฉพาะการเรียบเรียงราว 2 ปีเต็ม สำหรับสาเหตุที่ตนสนใจในโบราณวัตถุดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ “เรียบง่ายแต่เข้าใจยาก”

เสมาอีสานพบเยอะมาก แต่คนศึกษาน้อย ที่ทำกันไว้ก็นานมากแล้ว งานค้นคว้าวิจัยระยะหลังแทบไม่มี เลยเริ่มสำรวจจริงจังตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว เมื่อสำรวจมากเข้าจึงเห็นประเด็นทางวิชาการที่สามารถต่อยอดจากนักวิชาการรุ่นก่อนได้ จึงเริ่มวางประเด็นตั้งแต่ราวปี 53 และได้งบจริงปี 55 ทำ 2 ปีเสร็จ ใบเสมามีความเรียบง่ายแต่เข้าใจยาก ที่ว่าเรียบง่ายเพราะรูปร่างไม่ซับซ้อน ทำซ้ำไปซ้ำมา ไม่เป็นแผ่นแบนก็แท่งเหลี่ยมๆ ภาพสลักก็ง่ายๆ เช่นเส้นนูนธรรมดา หรือหม้อต่อด้วยกรวย ที่สวยงามก็ภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนา แต่เอาเข้าจริงก็น้อยกว่าแบบเส้นนูนธรรมดา ถ้าเทียบกับปราสาทหินที่ร่วมสมัยกัน พูดได้เป็นร้อยๆ หน้า  แต่ใบเสมาพูดไม่ได้เลย หรือพูดได้น้อยมาก มันยากตรงที่บริบทแวดล้อมมักไม่มี เช่น จารึกที่เป็นชิ้นเป็นอันให้ช่วยตีความหรือแม้แต่สถานที่ตั้งดั้งเดิมก็ไม่ชัด ส่วนมากถูกเคลื่อนย้ายแล้วมีเพียงบางแห่งที่อยู่ติดที่   นี่คือความยาก  มันจึงต้องใช้จินตนาการผสมกับข้อมูลเมื่อค้นคว้าต่อ ทั้งจากการสำรวจเอง และอ่านงานของคนบุกเบิกทั้งหลาย ข้อสรุปหลักใหญ่คล้ายกัน คือ พุทธ ผสมผสานกับความเชื่อเรื่อง ผี หรือพุทธผสานท้องถิ่น” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผลงานการตีความของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังมีความแตกต่างจากความคิดเห็นของนักวิชาการรุ่นก่อนหน้าบางประการ ทำให้เกิดแนวคิดและข้อสันนิษฐานใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษา อาทิ ภาพที่เคยได้รับการตีความว่าเป็นสถูปทรงหม้อน้ำ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ มองว่าแท้จริงแล้ว อาจเป็น “เครื่องบวงสรวง” หรือวิธีการปักล้อมรอบพื้นที่เพื่อเป็นพัธสีมาสงฆ์ โดยพบว่าบางแห่งมาจากคัมภีร์อรรถกถาของลังกาอีกด้วย

 

 

Advertisement
ออกสำรวจใบเสมาที่หนองหินตั้ง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ
ออกสำรวจใบเสมาที่หนองหินตั้ง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง06
ใบเสมาที่วัดเทวฤทธิ์สุวิมลมังคลาราม อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง09

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง03

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง02

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image