ที่มา | คอลัมน์ "รายงานการศึกษา" |
---|---|
ผู้เขียน | เบญจมาศ เกกินะ |
รายงานการศึกษา : ศธ.โชว์ ‘ของดี’ เด็กไทย ดันซอฟต์เพาเวอร์..การศึกษา สู่สายตาชาวโลก
จบไปแล้วอย่างสวยงาม สำหรับงานโชว์ของดีเด็กไทย “EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024” ที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขนทัพนักเรียน นักศึกษา นำสินค้าผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง และวางจำหน่ายให้ประชาชนได้เลือกช้อป ตั้งแต่วันที่ 25-27 ธันวาคม ที่ผ่านมา
งานนี้ถือเป็นการนำเสนอให้เห็นภาพรวม และความก้าวหน้าการดำเนินงาน และพลังของชาว ศธ.ที่ได้ร่วมใจนำยุทธศาสตร์ “ซอฟต์เพาเวอร์” แห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติในระดับกระทรวง เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สามารถสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ โดยมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงซอฟต์เพาเวอร์ด้านการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรม ด้วยการนำเสนอผลงานตามแนวคิด ซอฟต์เพาเวอร์ 5f ด้านการศึกษา โดยตรง 5 สาขา คือ สาขานวัตกรรมการจัดการ สาขาศิลปวัฒนธรรม สาขาแฟชั่น สาขาอาหาร และสาขาดิจิทัลและสื่อสร้างสรรค์ ด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ทำให้เห็นความสามารถของเด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถในหลายมิติ
ภายใต้แนวคิด “ช้อป ชิม โชว์ แชร์” คือ เลือกช้อปผลิตภัณฑ์จากฝีมือนักเรียนนักศึกษา ชิม ฝีมือการทำอาหารจากนักเรียน นักศึกษา โชว์ สาธิตองค์ความรู้จากนักเรียน นักศึกษา และแชร์ เวิร์กชอปแบ่งปันองค์ความรู้
ภายในงานยังมีเวทีการแสดงจากนักเรียน นักศึกษา มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย เช่น ดนตรีโฟล์คซอง การร้องเพลงไทย และสากล ลูกทุ่ง 4 ภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงโชว์ผลงานชนะเลิศการประกวดร้องเพลง เป็นต้น รวมถึง บูธจัดแสดงผลงาน และจำหน่ายสินค้าให้เลือกสรรมากมาย ด้วยความมุ่งหวังให้ ศธ.เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
ยกตัวอย่างบูธอาหาร ที่ขนมาจากทั่วทุกภาค ทั้งเหนือ ใต้ อีสาน กลาง อร่อยหลากรส เปิดให้ชาว ศธ.และประชาชนทั่วไป ได้ชิมเสน่ห์รสชาติอาหารไทย เมนูหากินยากทั้ง 4 ภาค อาทิ เปิดตำรับอาหารขันโตกของล้านนา อาหารอีสาน และอาหารพื้นบ้านแซบนัว รวมถึง ยังมีอาหารชาววัง และเครื่องดื่มที่หลากหลาย
อย่างบูธคาเฟ่สร้างอาชีพ “ควินินคาเฟ่” แหล่งเรียนรู้นอกตำรา นำผลิตภัณฑ์ “กาแฟก้ามปู” รสชาติกลมกล่อม จากร้านกาแฟ Quinine Cafe ตั้งอยู่ในวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยองมาออกร้าน ตั้งโดดเด่นคอยรับแขก อยู่ทางเข้า ศธ.ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
นายไชย์ปัญญา ทองอินทร์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอุตาสาหกรรมระยอง จ.ระยอง เล่าว่า ควินินคาเฟ่ เป็นร้านกาแฟที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกอาชีพบาริสต้าแก่นักเรียน นักศึกษา และยังสร้างรายได้ระหว่างเรียน ต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการในอนาคตหลังสำเร็จการศึกษาออกไป ซึ่งที่ร้านกาแฟแห่งนี้ ยังมีโรงคั่วกาแฟเอง มีขนม และเค้กหลายรสชาติ รวมทั้ง คิดค้นสูตรกาแฟ และอาหารหลากหลายเมนูไว้บริการลูกค้าอีกด้วย
“ไฮไลน์ของร้านในครั้งนี้คือ กาแฟ ก้ามปูนึ่ง ซึ่งเป็นการคิดค้นสูตรขึ้นมาใหม่ โดยส่วนผสมจะมีกาแฟคั่วตามสัดส่วน ใส่พริกป่น ที่คัดสรร และคั่วเอง 1 ช้อนกาแฟ ก่อนสกัดเอาน้ำกาแฟออกมาผ่านเครื่องชง จากนั้นนำขาปูม้านึ่งจุ่มลงในแก้วกาแฟ คนให้เข้ากัน เทคนิคการดื่ม ต้องชิมขาปูก่อน แล้วจิบตามด้วยกาแฟในแก้ว จะได้รสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร ไม่มีกลิ่นคาวอาหารทะเล แต่ได้รสชาติกาแฟที่หอมละมุน ไม่มีกลิ่นของพริกป่นแต่อย่างใด” นายไชย์ปัญญา กล่าว
ร้านกาแฟแห่งนี้ ยังมีสูตรชาเขียวคิวนิน ที่มีกลิ่นหอมหวานเฉพาะตัว ที่สามารถดื่มเป็นชาร้อน เพื่อสุขภาพ และหรือดัดแปลงเป็นชาเขียวนมแสนอร่อยก็ได้ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของร้าน และกาแฟที่คิดค้นสูตรใหม่ๆ อีกหลายเมนู ทั้งกาแฟดริปอาราบิก้า และกาแฟสูตรผสมส้มโอ มะนาว น้ำผึ้ง และมีเมนูเครื่องดื่มอื่นๆ อีก เช่น สมูทตี้ ชา โซดา เป็นต้น
อีกหนึ่งบูธที่น่าสนใจ คือผลงานนักศึกษาวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ที่เลี้ยงปูดำระบบน้ำธรรมชาติหมุนเวียน ขายดีเพราะได้ปูคุณภาพ เนื้อแน่น หวาน สะอาด และไร้กลิ่นโคลน เป็นธุรกิจการเลี้ยงปูดำในระบบน้ำธรรมชาติจากทะเลสาบสงขลาแบบหมุนเวียน
นายภวัต เจียมคลัง นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3 สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เล่าว่า ปูทะล หรือที่เรียกกันว่า ปูดำ ประกอบด้วยสารอาหาร และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสชาติที่ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้ง ยังสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เราจึงรับซื้อปูที่ไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ นำมาเลี้ยง โดยการเลี้ยงปูในระบบน้ำหมุนเวียนนี้ เป็นการควบคุมคุณภาพน้ำ ซึ่งน้ำที่ไหลออกจากบ่อเลี้ยง จะถูกนำไปบำบัดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นอีกระบบหนึ่งที่สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปูดำได้ เพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ มีการตกตะกอน และการบำบัด ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงปู
“การเลี้ยงปูในระบบนี้ ทำให้ได้ปูที่มีคุณภาพ เนื้อแน่น หวาน ไร้กลิ่นโคลน และสะอาด เพราะใช้น้ำธรรมชาติจากทะเลสาบสงขลา โดยปูดำในระบบน้ำธรรมชาติหมุนเวียน ราคาเริ่มต้น กิโลกรัมละ 450 บาท ราคาขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล สามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากสนใจเรียนรู้ และหรือศึกษาเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา โทร 0-7433-3202 หรือ 08-4241-4819″ นายภวัต กล่าว
นอกจากบูธอาหารเลิศรสที่ยกมาประชันกันแล้ว ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน หนีไม่พ้นโซนแฟชั่นผ้าไทย 4 ภาค ทั้งผ้ายกดอกลำพูน ผ้าชนเผ่า ผ้าไทยทรงดำ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมโคราช ผ้าปาเต๊ะ ผ้าเกาะยอ และผ้าบาติก
น้องวิสา แสนสุขยิ่งนัก นักศึกษาสาขาวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย และดีไซน์เนอร์ซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากประกวดชุดแฟชั่น ในงานเชียงรายแฟชั่นสู่การออกแบบระดับโลกครั้งที่ 1 หรือ “Chiang Rai Fashion to The World 1st Designers Competition” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสนำเสื้อผ้ามาเปิดบูธจัดแสดง และจัดจำหน่าย โดยน้องวิสา กล่าวว่า เสื้อผ้าที่นำมาจัดแสดง และจัดจำหน่ายครั้งนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายทั้งหมด ได้รับการตอบรับจากผู้ที่มาร่วมงานดีมาก ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมาก
บูธความสวยความงามก็ไม่แพ้ใคร สปาเพียงหนึ่งเดียวของอาชีวะจาก วิทยาลัยเทคนิคพังงา ที่ได้รับความไว้วางใจจากโรงเรียนบันยันทรี สปา อคาเดมี่ รับรางวัลการันตีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก รวมทั้ง ยังเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้บุกเบิกการนวดโดยศาสตร์ตะวันออกในแถบเอเชีย สปาที่ได้ผสมผสานศาสตร์แห่งการดูแลสุขภาพ และความงาม ที่สืบทอดกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น เน้นเข้าถึงการบำบัดแบบองค์รวม เเละโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (นวดวัดโพธิ์) สถาบันที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักเ เละได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งเป็นต้นตำรับแพทย์แผนไทยแขนงโบราณ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากองค์การ UNESCO เป็นหนึ่งใน Soft Power และเอกลักษณ์ของไทยที่รู้จักไปทั่วโลกในชื่อ “Thai Massage”
ปิดท้ายที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี ที่ขนนิทรรศการศิลปะมาโชว์ศักยภาพนักศึกษา โดย ครูวันใหม่ อวยพรเจริญผล สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี จัดแสดง 3 โซน คือ โชว์นิทรรศการศิลปะ แสดงถึงการขับเคลื่อนในวงการศิลปะ โซนแชร์องค์ความรู้ ว่ากว่าจะผลักดันนโยบายซอฟต์เพาเวิร์ดได้ ต้องรู้ก่อนว่ากระบวนการผลิตมีความเป็นมาอย่างไร โดยทางวิทยาลัยได้พานักศึกษามาลงพื้นที่จริง และให้เด็กได้เผยแพร่องค์ความรู้ให้ประชาชน และโซนสุดท้าย คือช้อป ตรงนี้คือหัวใจหลักของอาชีวะ เพราะถ้าเด็กอาชีวะไม่ฝึกอาชีพ จะไม่มีแรงบันดาลใจในการเรียน เพราะไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ดังนั้น จึงมีนโยบายให้เด็กมีงานทำระหว่างเรียน พอเด็กจบไปแล้ว ก็จะมีงานทำ เพราะประกอบอาชีพตั้งแต่ยังเรียนแล้ว
สรุปภาพรวมงานนี้ ถือว่าเป็นไปตามนโยบาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชินชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ส่งเสริมให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน ฝึกอาชีพ มีประสบการณ์ จบแล้วมีงานทำแน่นอน…