ส่องพิพิธภัณฑ์ ชาวบางกอก วันที่ไร้ ‘รศ.วราพร’

ผู้คนร่วมอาลัยล้นหลามในพิธีพระราชทานเพลิง รศ.วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก และประธานมูลนิธิอินสาท-สอาง

เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ณ วัดหัวลำโพง พระอารามหลวง ท่ามกลางบรรยากาศอันโศกเศร้ากับการจากไปอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุพลัดตกจากชั้น 2 ของบ้านพัก ส่งผลให้กะโหลกศีรษะร้าว สมองกระทบเทือนอย่างหนัก

รศ.วราพร รักษาตัวในห้องผู้ป่วยวิกฤต สถาบันประสาทฯ นานกว่า 1 สัปดาห์ และจากไปอย่างสงบในช่วงบ่ายของวันที่ 25 มกราคม

ไม่เพียงความเศร้าหมองของคนใกล้ชิด ลูกศิษย์ และผู้นับถือ หากแต่ยังมีความห่วงใยของสังคม ต่อ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ในวันที่ไร้หญิงชราวัย 81 ปี นามว่า “วราพร” ผู้กระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะจนคนไทยพร้อมใจโอนเงินในคราวที่มีการระดมทุน 10 ล้านบาทครบถ้วนในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ หวังไม่ให้ตึกสูงมาบดบังทัศนียภาพ คงไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวกลางเมืองใหญ่

Advertisement

หลังได้รับโอนที่ดินมูลค่า 40 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยด้วยเงินมูลนิธิอินสาท-สอาง 30 ล้านบาท บวกกับเงินบริจาค 10 ล้านบาท ในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกมีแผนก่อสร้างอย่างจริงจัง โดยได้รับเงินบริจาคอีกราว 3 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคาร มีการว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งย่านสี่พระยาให้เป็นผู้ดำเนินการ แผนเดิมที่วางไว้คาดจะเริ่มต้นในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทว่ามาเกิดเหตุไม่คาดฝันเสียก่อน การดำเนินการเรื่องนี้จึงต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย

ที่ดินผืนนี้ รวมถึงเงินบริจาคต่างๆ อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิอินสาท-สอาง ซึ่งมี รศ.วราพรเป็นประธาน และมีกรรมการเป็นญาติๆ ในตระกูล

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท “เพื่อพิพิธภัณฑ์” ซึ่ง รศ.วราพรก่อตั้งขึ้นสำหรับประมูลงานดูแลพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกโดยเฉพาะอย่างไม่หวังผลกำไร เพียงเพื่อให้ได้เอาใจใส่ในสถานที่ซึ่งเคยเป็นบ้านของครอบครัวอย่างแท้จริง ทั้งทำความสะอาด รดน้ำต้นไม้ และการบริหารจัดการด้านอื่นๆ

Advertisement

การเบิกจ่าย ซึ่งต้องใช้ลายมือชื่อของ รศ.วราพร ไม่อาจเป็นไปได้ และยังไม่รู้อนาคตที่แน่ชัดของบริษัทดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวพันกับพิพิธภัณฑ์โดยตรง

เช่นเดียวกับการดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์

หลังพระราชทานเพลิงเสร็จสิ้น พ.อ.ชัยเดช สุรวดี รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ประจำพื้นที่ จ.พิจิตร ผู้เป็นหลานชาย เปิดเผยว่า จะมีการพูดคุยกันในครอบครัวถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อให้มีการสืบสานเจตนารมณ์ต่อไป แต่ในรายละเอียดจะต้องหารือกันอีกครั้ง และขอให้คนไทยโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯช่วยกันดูแล หวงแหนในมรดกที่คุณอาของตนมอบแก่สังคมด้วยความดีงาม

ทั้งนี้ รศ.วราพรเคยลั่นวาจาไว้ชัดเจนว่าจะไม่มีการยกที่ดินดังกล่าวให้กรุงเทพ มหานคร เหมือนที่เคยยกพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เขตบางรัก” เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2547 ซึ่งประกอบไปด้วยที่ดิน พร้อมอาคาร 4 หลัง ของเลขที่ 273 ตรอกสะพานยาว ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ

นั่นหมายความว่า แม้ รศ.วราพรจากไปแล้ว พิพิธภัณฑ์จะยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และ กทม.ก็จะยังคงดูแลต่อไปในแง่ของงบประมาณ

วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณดูแลและบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ เฉลี่ยปีละ 1,500,000 บาท โดยในปี 2560 ได้งบ 1,639,300 บาท พร้อมกับขอเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าซ่อมแซมปรับปรุงพิพิธภัณฑ์อีก 426,400 บาท จัดหาอาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานในวันทำการ คือ ระหว่างวันพุธถึงอาทิตย์ วันละ 4 คน พร้อมมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตบางรัก เข้าไปประสานงานและร่วมดำเนินงานเป็นประจำทุกวันด้วย

ด้าน สุภาวดี สิทธิกรไพบูลย์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก เปิดเผยว่า จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ดูแลพื้นที่ เพื่อหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการว่าจะดำเนินงานต่อไปอย่างไร รวมถึงจะหารือเรื่องการจัดทำประวัติของ รศ.วราพร บรรจุไว้ภายในพิพิธภัณฑ์

ทว่าที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการดำเนินงานของ กทม.โดยสำนักงานเขตบางรัก กับ รศ.วราพร จะไม่ค่อยราบรื่นนัก

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ก็ให้คำมั่นในค่ำคืนที่เดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพ รศ.วราพรว่าจะสานต่อโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง โดยให้เครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการดูแล สอดคล้องกับความคิดเห็นของสมาชิก “เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม” ซึ่ง รศ.วราพรเป็นประธานเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

รพีพัฒน์ เกษโกศล เลขานุการเครือข่ายฯ ระบุว่า “จะทำทุกอย่างเหมือนเมื่อครั้งที่อาจารย์วราพรยังมีชีวิตอยู่” และมองว่า หลังจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนและเครือข่ายต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ส่วนการสร้างอนุสรณ์ถึงท่าน ยังเป็นเพียงแนวความคิดที่มีการเสนอขึ้นมาเท่านั้น ยังไม่ได้เตรียมการก่อสร้างแต่อย่างใด

จากนี้ต่อไปคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ กทม.ผู้ถือกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการ จะยืนยันว่าพร้อมดูแลพิพิธภัณฑ์เช่นเดิม ทว่าความมีชีวิตชีวาของ “บ้าน” ย่อมเลือนหายไปไม่มากก็น้อย ภาพจำของผู้คนที่เคยเดินทางไปเยี่ยมเยือนสถานที่ดังกล่าว คือหญิงชราใจดีที่เล่าเรื่องราวของวัตถุทุกชิ้นอย่างมีสีสัน รายละเอียดของเหตุการณ์ถูกถ่ายทอดผ่านความทรงจำชั่วชีวิต นี่คือสิ่งที่จะไม่มีอีกแล้วในวันพรุ่งนี้

ส่วนในแง่มุมอื่น ก็น่าพิจารณาว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางใด โครงการบนที่ดินมูลค่า 40 ล้านบาท จะดำเนินต่อไปหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image