โฆษก กรธ.มองข้อเสนอบวรศักดิ์ทำยาก เผยยังไม่ตีความข้อเสนอ ครม.

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอแนวทางของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยให้ประชาชนเลือกตอนทำประชามติว่าจะเลือกรัฐธรรมนูญของใคร ไม่ว่าจะเป็นฉบับนายบวรศักดิ์ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และฉบับ 40 หรือฉบับ 50 ว่า เป็นเรื่องที่ทำยาก เพราะการทำประชามติเป็นการให้ข้อมูลกับประชาชน ดังนั้นแสดงว่าเราต้องทำข้อมูลทุกร่างทุกฉบับมาให้ประชาชนเลือก แล้วตนมองว่าหากเราตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็คงจะให้คณะกรรมการชุดนั้นไปศึกษาทุกร่างมาแล้ว ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งข้อที่พิจารณานั้นด้านหนึ่งคณะกรรมการร่างก็ต้องไปพิจารณาที่ผ่านมาทำไมไม่เอาร่างหนึ่งร่างใดมาดู คงมีเหตุผล มีข้อดีไม่ดีอย่างไร โดยเรื่องแบบนี้จะให้ถูกใจทุกคนเห็นตรงกันกับกรรมการร่างคงเป็นไปไม่ได้

นายอุดมกล่าวว่า อย่างเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาหากให้สิทธิเสรีภาพไม่น้อยกว่าเดิม ส่วนเรื่องโครงสร้างการเมืองคงมีความคิดเห็นต่างได้เพราะคนที่มาชี้นำค่อนข้างมาก ในสายการเมือง นักการเมืองพรรคการเมือง คนที่อยู่ใน สนช. สปท. คนเหล่านี้จะมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างวิจารณ์แตกต่างได้เยอะ ดังนั้นเป็นธรรมดาจะเห็นเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่นให้พรรคประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยมาร่างก็เห็นต่างกัน ดังนั้นคิดว่าการจะให้มาเลือกหลายฉบับเป็นเรื่องยาก เพราะขนาดฉบับเดียวก็ยังทำความเข้าใจไม่หมดเลย ทั้งนี้การที่ระบุว่าจะให้เลือกว่าเอาฉบับใครนั้น ดูเหมือนทางเลือกปรองดองที่สุด คนมีทางเลือกสุด แต่ในทางความเป็นจริงทำได้ยากสุด เพราะทำให้คนทุกคนมาศึกษาทุกร่าง เว้นแต่จะให้การเมืองเป็นตัวชี้นำเลย ใครเชื่อใครก็เอารัฐธรรมนูญฉบับนั้น อย่างไรตนคิดว่าไม่ใช่ความมุ่งหมายในการทำประชามติ แต่เป็นเรื่องของการเลือกคน อย่างไรก็ดี เข้าใจใครร่างฉบับไหนก็มีใจเชียร์ร่างฉบับนั้น

นายอุดมกล่าวถึงข้อเสนอคณะรัฐมนตรีในแก้วิกฤตช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่า เรายังไม่ได้มีการประชุมตีความในเรื่องนี้ เพราะเพิ่งได้ข้อเสนอมา แต่ที่เราลองอ่านดู คือ ครม.ไม่ได้มีการเขียนเรื่องนี้เป็นรูปธรรม แต่จับความได้อย่างหนึ่ง คือ หลังเลือกตั้งยังมีความเป็นห่วง เปรียบเทียบกับการที่ กรธ.มองช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ ช่วงที่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ มีช่วงเตรียมการร่างกฎหมายลูก เตรียมการจัดการเลือกตั้ง เป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ตรงนี้ก็มีองค์กรเดิมทำหน้าที่อยู่ต่อ แต่ทางรัฐบาลคงคิดว่ามองแค่นี้พอหรือ เราไม่ทราบว่าเขาต้องการให้มีเหมือนกับที่ฉบับนายบวรศักดิ์ทำหรือไม่ มี คปป.ให้ทำอะไร คุมอะไร แต่เข้าใจว่าโดยทั่วไปคิดถึงปัญหาความวุ่นวายการล้างแค้นกัน คนจะกลัวเช่นนี้ คนที่ล้มไปจะมาพลิกฟื้นตรงนี้ แล้วอะไรเป็นหลักประกันของฉัน แล้วก็จะเป็นวงจรเช่นเดิม อย่างไรก็ดีในการตีความเรื่องนั้นคงต้องไล่ไปก่อนเพราะขณะนี้พิจารณาอยู่ในส่วนที่หน้าที่ของรัฐ เข้าใจเรื่องนี้อยู่ในบทเฉพาะกาลก็อาจจะท้ายสุด อย่างไรก็ดี การจะปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงไหนนั้นก็ตอบยาก แต่ร่างไปแล้วคงไม่มีใครอยากปรับมาก แต่ก็ทำได้ยาก จะให้ใครมายินดีหมด แต่เราก็ต้องเลือกทางที่พอเหมาะพอควร ไม่เสียหลักการของเรา ทุกฝ่าย อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ให้คนที่กลางๆ พอรับได้ จะให้ทุกฝ่ายรับหมดยาก

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image