พระเทพฯทอดพระเนตร โรงขยายแบบพระเมรุฯ พระราชทานชื่อวิธานสถาปกศาลา เผยแบบพระโกศทองคำลงบรรจุพระบรมอัฐิ

แบบและลวดลายพระโกศทองคำลงยาสีประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ออกแบบโดยนายอำพล สัมมาวุฒธิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร


พระเทพฯเสด็จฯติดตามงานสร้างพระเมรุมาศ พระราชทานชื่อโรงขยายแบบ”วิธานสถาปกศาลา” ช่างตกแต่งประติมากรรมสัตว์มงคลประดับพระเมรุมาศ เขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง

@ ยอดสักการะพระบรมศพ4ล.คน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศล เป็นวันที่ 61 อาทิ โรงเรียนไกลกังวล, ศิษย์เก่าโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนต์

รุ่นที่ 13, ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รุ่นที่ 59, ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์ รุ่น AMICIZIA และครอบครัว, ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ รุ่นที่ 40 และรุ่นที่ 44, สมาคมและชมรมศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช, ศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นปีการศึกษา 2526 และรุ่นปีการศึกษา 2552, โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ, นายถนอม โจมหาญ และชมรมคนรักในหลวงสระบุรี, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแพร่ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม พิษณุโลก หนองบัวลำภู อุบลราชธานี สระบุรี และลพบุรี

Advertisement

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หลังสำนักพระราชวังปิดเวลา 21.15 น. ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 32,384 คน รวม 95 วัน มี 4,095,788 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 2,537,512 บาท รวม 95 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 345,352,821.09 บาท

@ สวดมาติกา-สดับปกรณ์ถวาย

เวลา 10.00 น. นางราตรี ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังไกลกังวล เป็นประธานบำเพ็ญกุศลและถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 10 รูปจากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดนิมมานรดี วัดราชคฤห์ วัดยานนาวา วัดพระยาทำ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดกลาง จ.สมุทรปราการ วัดนางเหลียว จ.ลำปาง และวัดอรุณสหราชอาณาจักร ประเทศสหราชอาณาจักร ที่สวดพระพุทธมนต์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบรมศพ

เวลา 14.30 น. พ.อ.เสรี ตรีครุธพันธุ์ ผู้บังคับการกรมทหารขนส่งรักษาพระองค์ ตัวแทนคณะนักศึกษาวิทยาลัยกองทัพบก หลักสูตรหลักประจำชุด 61 เป็นประธานบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ โดยมีพระสงฆ์ 10 รูป จากวัดศรีโสดา วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดศรีปิงเมือง วัดพวกช้าง วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม วัดวิสุททาราม วัดศิริมงคล จ.สมุทรสาคร ที่สวดมาติกาและสดับปกรณ์อุทิศถวายพระบรมศพ

Advertisement

เวลา 17.00 น. นายถาวร พงศ์ตระกูลนนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม เป็นประธานในพิธีเป็นประธานบำเพ็ญกุศล โดยมีพระสงฆ์ 10 รูปจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดปทุมคงคา และวัดสันติวัน จ.ระยอง สวดมาติกาและสดับปกรณ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบรมศพ

@ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ9ก.พ.

ที่กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) บริเวณท้องสนามหลวง พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอร.รส. กล่าวภายหลังการประชุมร่วม กอร.รส.ว่า ช่วงที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางมาเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในพระบรมมหาราชวัง เฉลี่ยประมาณ 3 หมื่นคนต่อวัน ส่วนใหญ่จะเดินทางมากราบถวายสักการะในช่วงเช้าจนถึงเที่ยง และจะใช้เวลาในการเข้ากราบถวายสักการะประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.ต.พงษ์สวัสดิ์กล่าวว่า กอร.รส.เตรียมจะดำเนินงานเพิ่มเติมในส่วนของกิจกรรมนิทรรศการเย็นศิระเพราะพระบริบาล จัดขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ จากนั้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ก็จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม นิทรรศการจะมีความสวยงามมาก และสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ได้วางแผนไว้ 2 แนวทางในการเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการคือ 1.ให้ประชาชนเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพแล้วมาเข้าชมนิทรรศการ และ 2.ถ้ามีประชาชนมาต่อคิวเข้าถวายสักการะพระบรมศพยาวก็ถือโอกาสให้เข้าชมนิทรรศการก่อน รวมทั้งเตรียมเปิดให้กลุ่มคณะบุคคลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูแลในส่วนของบ้านเด็กด้อยโอกาสได้จัดคิวเพื่อเข้าชมนิทรรศการด้วย จะสามารถเข้าชมได้รอบละ 5 คณะ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในส่วนของ กอร.รส.จะอำนวยความสะดวกในการผ่านเข้าออกพื้นที่อย่างเต็มที่

@ เตรียมพื้นที่พิธีแรกนาขวัญเม.ย.

รองแม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า นอกจากนั้นยังได้เตรียมการในเรื่องของการจัดบริหารพื้นที่สำหรับการรองรับงานในอนาคตภายในพื้นที่ท้องสนามหลวง โดยในช่วงเดือนเมษายนจะต้องเตรียมพื้นที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีการปรับในเรื่องจุดคัดกรอง ขณะนี้ได้ปิดจุดคัดกรองบางจุดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางเข้าด้านวัดมหาธาตุฯ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของเส้นทางหรือว่าการเข้าคิว มิเช่นนั้นก็อาจทำให้เกิดการซ้อนแถวกัน โดยจะมีการประสานงานและจัดระบบการเปิด-ปิดจุดคัดกรองใหม่ รวมถึงการนำประชาชนเข้าสู้เต็นท์พักคอยตามตัวอักษร ตอนนี้ได้เปลี่ยนเส้นทางจุดเข้าแล้วจากเดิมเข้าทางถนนสายกลางเป็นมาเข้าทางด้านทิศเหนือ เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์

พล.ต.พงษ์สวัสดิ์กล่าวว่า ฝากถึงประชาชนที่จะเดินทางมากราบถวายสักการะพระบรมศพให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพให้เหมาะสม กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดสายตรวจมาคอยให้คำแนะนำในเรื่องการแต่งกายให้เหมาะสมด้วย ด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับหน้าที่ดูแลคนไร้ที่พึ่งบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง แต่ในพื้นที่ไม่ค่อยมี จะกระจายไปอยู่ตามพื้นที่รอบนอก จะมีการจัดระเบียบ และช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งให้ได้รับการดูแลมากขึ้นต่อไปด้วย

@ จัด’มาฆบูชา’ท่าราชวรดิฐ

ผศ.ดร.ธีรภัค ไชยชน เลขานุการศูนย์ อำนวยความสะดวกพระภิกษุสามเณร กล่าวว่าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เป็นวันมาฆบูชา ทางสำนักพระราชวังได้เห็นว่ามีประชาชนเดินทางมากราบถวายพระบรมศพ และมีพระภิกษุสงฆ์มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก และเกรงว่าจะเดินทางกลับไปเวียนเทียน เพื่อแสดงตนเป็นพุทธมามกะในวันมาฆบูชาไม่ทัน จึงได้จัดงานเจริญพระพุทธมนต์มาฆบูชา เพ็ญเดือน 3 ที่ศูนย์อำนวยความสะดวกพระภิกษุสามเณร ท่าราชวรดิฐ ประตูทางออกเทวาภิรมย์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางมากราบถวายสักการะพระบรมศพได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะและเวียนเทียนสวดมนต์บทอิติปิโส 108 จบ ถวายเป็นพุทธบูชาแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9

@ รับอาสาสมัครดูแลต้นมะขาม

นายวิกร เพิ่มพวก รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers for dad กล่าวว่า ทางศูนย์ได้เปิดรับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม-18 กุมภาพันธ์ เพื่อเข้าอบรมเรื่องการดูแลต้นมะขามบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง ทางศูนย์ได้ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กรมป่าไม้ และกรมศิลปากร เพื่อดูแลและฟื้นฟูต้นมะขามในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ได้รับสั่งมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ดูแลและฟื้นฟูต้นมะขามต่างๆ ให้มีความงดงาม การดูแลตอนนี้แบ่งเป็นส่วนเหนือ และส่วนใต้ของสนามหลวง ได้ฟื้นฟูโซนเหนือไปแล้ว 1 ใน 3 ภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม รวมทั้งอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ม.แม่โจ้ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการอุดโพรง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะเข้ามาดูพื้นที่ของต้นมะขาม และจะเกี่ยวข้องกับการย้ายต้นมะขามออกจากพื้นที่จำนวน 50 ต้น เพื่อก่อสร้างพระเมรุมาศ จะมีการทำงานร่วมกับสวนนงนุช สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กรมป่าไม้ และกรมศิลปากร เข้ามาช่วยในการดูแลต้นมะขามจะต้องมาล้อมย้ายเคลื่อนที่ออกไปให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด เพราะต้นมะขามบางต้นอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ดังนั้นจะต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญดูแลต้นมะขามอย่างดี

@ มอบประกาศนียบัตรเชิดชู3คนดี

นายวิกรกล่าวว่า นอกจากนี้ กอร.รส.ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับบุคคลที่ประกอบคุณงามความดี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม 3 คน ประกอบด้วย พ.จ.อ.ครรชิต แก้วใหญ่ อายุ 52 ปี พลขับรถโบราณเจษฎาเทคนิคมิวเซียม เก็บกระเป๋าสตางค์ภายในมีเงินสด 8,000 บาท พร้อมเอกสารสำคัญ และนำส่งคืนเจ้าของได้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม, นายปิยะณัฐ ผ่อนผัน อายุ 25 ปี อาสาสมัครประจำรถบริการรับ-ส่งประชาชนฟรี เก็บโทรศัพท์มือถือได้ และนำส่งคืนนักท่องเที่ยวชาวจีน เมื่อวันที่ 28 มกราคม และนายสุเวช สังข์ภิญโญ พลขับรถโบราณเจษฎาเทคนิคมิวเซียม เก็บถุงกระดาษภายในมีกระเป๋าหนัง และเอกสารสำคัญได้ ก่อนนำส่งคืนเจ้าของเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เมื่อวันที่ 29 มกราคม

@ ‘พระเทพฯ’เสด็จติดตามงาน

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทรงตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการก่อสร้างพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เฝ้าฯรับเสด็จและรายงานความคืบหน้า อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระ

ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ วธ. นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. และนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นการเสด็จฯ ยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวงเป็นครั้งที่สอง และเสด็จฯ ยัง วิธานสถาปกศาลา หรือโรงขยายแบบเป็นครั้งแรก หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้ทอดพระเนตรต้นมะขามบริเวณด้านนอกอาคาร โดยใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง ก่อนเสด็จฯ กลับ

@ โรงขยายแบบ’วิธานสถาปกศาลา’

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมาทรงตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของกรมศิลปากรในการก่อสร้างพระเมรุมาศ ขณะนี้กรมศิลปากรได้มีการจัดสร้างโรงขยายแบบเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า “วิธานสถาปกศาลา” สำหรับโรงขยายแบบที่สร้างขึ้นใหม่นี้ มีพื้นที่ใหญ่กว่าโรงขยายแบบเดิมที่อยู่ที่บริเวณโรงละครแห่งชาติ สามารถขยายแบบเท่าขนาดจริงทุกชิ้นส่วน ทั้งนี้ บริเวณเดียวกันนี้ยังมีอีก 3 อาคาร มีอาคารสำหรับเตรียมฉลุลายพระโกศจันทน์และช่อไม้จันทน์ จะเปิดให้ประชาชนที่มีความสามารถด้านงานช่างได้เข้ามาร่วมดำเนินการ โดยมีประชาชนสมัครเข้ามาแล้วเป็นจำนวนมาก และโรงหล่อประติมากรรมส่วนประดับพระเมรุมาศ ได้แก่ รูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ และโรงลงสีประติมากรรม นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรต้นมะขามเก่าแก่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศ และรับสั่งเพิ่มเติมว่า “ให้ดูแลต้นไม้ให้งอกงาม”

@ ประดับสัตว์มงคลพระเมรุมาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับพื้นที่ดินและก่อสร้างฐานรากพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม และจะมีการก่อสร้างส่วนตัวอาคารต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ได้มีการนำประติมากรรมสัตว์มงคล อย่างช้าง วัว นอกจากนี้มีประติมากรรมเทวดามาจัดแสดงบริเวณโรงหล่อประติมากรรม ส่วนแบบพิมพ์จริงได้ปั้นรูปม้าคู่เรียบร้อยแล้วเป็นอย่างแรก หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการหล่อและลงสีต่อไป ส่วนรูปปั้นอื่นๆ จะทยอยแล้วเสร็จหลังจากนี้และเข้าสู่กระบวนการหล่อและลงสีเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงแบบสเกตช์ประติมากรรมรูปครุฑ 3 แบบ คชสีห์ ราชสีห์ เทวดานั่งอัญเชิญฉัตร และอัญเชิญบังแทรก เทวดายืนอัญเชิญฉัตร และอัญเชิญพุ่ม ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ ประกอบด้วย ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ มหาเทพทั้ง 4 ประกอบด้วย พระศิวะ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ได้จัดแสดงแบบพระโกศทองคำลงยาสีประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ พระโกศศิลาขาวทรงพระบรมอัฐิ รวมทั้งจัดแสดงลวดลายของหีบพระบรมศพจันทน์ที่ฉลุลวดลายแล้ว อาทิ ช่อดอกไม้ไหว ปากฝาหีบจันทน์ ดอกไม้ไหวปากฐาน ดอกไม้ไหวบัวถลาฝาหีบจันทน์ ลายฝาหีบจันทน์ เป็นต้น และยังได้จัดแสดงช่อไม้จันทน์ฉลุลวดลายแล้ว สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทรงใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รวมถึงท่อนฟืนไม้จันทน์เขียนลายรดน้ำลงบนท่อนฟืนแล้ว

@ เขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง ได้มีการจัดแสดงแบบทั้งด้านหน้าและด้านใน ด้านหน้าส่วนบนเขียนลงบนลูกฟักของฉากบังเพลิง เป็นภาพนารายณ์อวตาร และเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องราวโครงการในพระราชดำริ ที่ลูกฟักส่วนล่างของฉากบังเพลิง ส่วนด้านหลังฉากบังเพลิง เขียนภาพพระปรมาภิไธยและลายพรรณพฤกษา รวมถึงบนผนังภายในพระที่นั่งทรงธรรม จะมีการเขียนภาพจิตรกรรมโครงการในพระราชดำริด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของศิลปะการเขียนภาพจิตรกรรมที่ลายลูกฟักฉากบังเพลิงนั้น จะมีทั้งหมด 4 ด้าน นำมาจัดแสดงในส่วนของด้านทิศเหนือ ด้านหน้า จะเป็นฉากใหญ่ช่องกลางทั้ง 2 บาน เขียนภาพจิตรกรรมนารายณ์อวตาร ด้านซ้ายเป็นนารายณ์อวตารปางกูรมาวตาร ด้านขวาเป็นนารายณ์อวตารปางมัตสยาวตาร ฉากริมซ้ายและขวาเป็นภาพเทวดาและนางฟ้า ส่วนด้านหลัง ฉากบานใหญ่ช่องกลาง เป็นอักษรพระปรมาภิไธย ภปร ลายผูกดอกไม้สีเหลืองประจำพระองค์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนด้านล่างของฉากบังเพลิง จะเป็นภาพเขียนจิตรกรรมตามโครงการพระราชดำริ ดังนี้ โครงการตามพระราชกระแสประตูระบายน้ำปากพนัง ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน เขื่อนขุนด่านปราการชล วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก และชุมชนโดยรอบ โรงสีข้าวตัวอย่างภายในสวนจิตรลดา โครงการหลวง เศรษฐกิจพอเพียง โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี โครงการพัฒนาพื้นที่หุบกะพง

@ พระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ

รายงานข่าวแจ้งว่า พระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ มี 3 แบบ โดยพระโกศหลัก คือ พระโกศทองคำลงยาสีประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ ออกแบบโดยนายอำพล สัมมาวุฒิธิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จะเก็บอยู่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ อีก 2 แบบ ออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และนายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image