เปิดตำนาน “วัดราชบพิธ” ที่ประทับ “3 สมเด็จพระสังฆราช” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลที่ 5 ประทับพระราชยานซึ่งเทียบเกยพลับพลาเปลื้องเครื่อง วัดราชบพิธ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ.2412

พระองค์ได้พระราชทานนามพระอารามนี้ว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”

ราชบพิธ มีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง

สถิตมหาสีมาราม มีความหมายว่า อารามอันมีเขตสีมากว้างใหญ่ตั้งอยู่

Advertisement
ภาพถ่ายเก่าวัดราชบพิธ
ภาพถ่ายเก่าวัดราชบพิธ
คณะสงฆ์วัดราชบพิธ มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประทับตรงกึ่งกลางภาพ
คณะสงฆ์วัดราชบพิธ มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประทับตรงกึ่งกลางภาพ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับการก่อสร้างถาวรวัตถุสำคัญชิ้นแรกๆ ของวัดราชบพิธไว้ในหนังสือ “แถลงการณ์คณะสงฆ์” เล่มที่ 11 พ.ศ.2466 ความตอนหนึ่งว่า

“วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2413 เริ่มพระราชพิธีสวดผูกพัธสีมา 3 วัน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม เวลายาม 1 กับ 30 นาที เป็นพระฤกษ์ผูกเสมาเต็มเนื้อที่วิสุงคามสีมา ที่มีกำแพงตั้งสีมาทั้ง 8 ทิศ เป็นที่หมาย สีมาของวัดนี้เป็นมหาสีมา

…….วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2416 ยกช่อฟ้าใบระกาพระอุโบสถ”

Advertisement

ภายในพระอาราม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เขตพุทธาวาส และสังฆาวาส

เขตพุทธาวาส ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อาทิ  พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นศาลาโถง หน้าบันจำหลักลายตราราชวัลลภ , พระเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งมีปลียอดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ,พระอุโบสถ งดงามด้วยลวดลายบนบานประตูหน้าต่างประดับมุก ทุกบานผูกลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง อกเลาของบานประตูมุก ผูกเป็นอักษรพระปรมาภิไธย “จปร” เพดานภายในเป็นซุ้มโค้งแหลมแบบโกธิก , วิหาร มีรูปแบบเดียวกับพระอุโบสถ แต่บานประตูหน้าต่างเป็นไม้จำหลักลวดลายดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์

อาคารทุกหลังในเขตพุทธาวาส ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ซึ่งพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนารามเป็นผู้ให้แบบลาย แล้วสั่งทำจากประเทศจีน ซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธาวาส มีบานประตูรูปทวารบาลแต่งกายแบบทหารยุโรป

ภาพจาก dhammajak.net
ภาพจาก dhammajak.net
ตำหนักอรุณ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะ)
ตำหนักอรุณ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะ)

ปูชนียวัตถุสำคัญ คือ “พระพุทธอังคีรส” ประดิษฐานในพระอุโบสถ สร้างจากทองคำที่กาไหล่เป็นทองเนื้อ 8 หนัก 180 บาท จากทองคำเครื่องแต่งพระองค์เมื่อทรงพระเยาวของรัชกาลที่ 5

เขตสังฆาวาส ประกอบด้วย ตำหนักอรุณ ซึ่งเป็นกุฏิเจ้าอาวาส เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคาร 3 ชั้น

พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ เป็นเก๋งจีน 3 ชั้น ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บโบราณวัตถุทรงคุณค่าซึ่งเป็นสมบัติของวัด และของใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ คือ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8) และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก  สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่9)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 และเป็นองค์ที่ 3 ของวัดราชบพิธ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉายกับพระแท่นฉัตรคันตาลตาดเหลือง 5 ชั้น ในตำหนักอรุณ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉายกับพระแท่นฉัตรคันตาลตาดเหลือง 5 ชั้น ในตำหนักอรุณ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ภาพจากwww.web-pra.com
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ภาพจากwww.web-pra.com
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

 

 

ข้อมูลและภาพส่วนหนึ่งจาก

  • หนังสือ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 5” เรียบเรียงโดย บุญเตือน ศรีวรพจน์ และ ทิพวรรณ บุญส่งเจริญ
  • หนังสือ “ดั่งทองชมพูนุท จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในอภิลักขิตสมัย 150 ปีนับแต่วันประสูตื พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 16 ธันวาคม 2552 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image