สมเด็จพระสังฆราช ในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงถวายพระสุพรรณบัฏเนื่องในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสนมหาเถร)

นับแต่พระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกเป็นรากแก้วทางจิตใจของผู้คนในดินแดนสยาม พระภิกษุผู้เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่อุบาสกอุบาสิกา ท่ามกลางหมู่สงฆ์ ยังมี “สังฆราช” ซึ่งแปลตามรากศัพท์ได้ว่า “ราชาของสงฆ์” เป็นพระมหาเถระผู้เป็นใหญ่อยู่เหนือสุดของสังฆมณฑล

ประวัติศาสตร์จารึกเรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละยุคสมัย อาทิ บันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสยุคกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึง พระวันรัตน์ ผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่มหาสังฆปริณายก ปกครองคณะสงฆ์ทั้งปวง

ครั้นต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏพระนามสมเด็จพระสังฆราชแต่ครั้งปฐมกษัตริย์ โดยทั้ง 19 พระองค์ล้วนทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในสยามทั้งสิ้น

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement
ภาพถ่ายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2416 (จากซ้าย) รัชกาลที่ 5 ขณะผนวชเป็นภิกษุ , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธฯ, พระสุคุณคณาภรณ์ (นิ่ม) วัดเครือวัลย์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร, พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม, สมเด็จพระวันรัตน (ทับ พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร , พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตโต) วัดบรมนิวาส, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) วัดปทุมคงคา  และสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทวมหาเถร) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ภาพถ่ายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2416 (จากซ้าย) รัชกาลที่ 5 ขณะผนวชเป็นภิกษุ , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธฯ, พระสุคุณคณาภรณ์ (นิ่ม) วัดเครือวัลย์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร, พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม, สมเด็จพระวันรัตน (ทับ พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร , พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตโต) วัดบรมนิวาส, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) วัดปทุมคงคา และสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทวมหาเถร) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ทรงเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก ประจำปี 2533

มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งคดีโลก และคดีธรรม ทรงมีพระนิพนธ์มากมายเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ลิลิตตะเลงพ่าย พระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีชิ้นเอก นอกจากนี้ ยังทรงคิดแบบพระพุทธรูปถวายรัชกาลที่ 3 ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทรงเลือกพุทธอิริยาบถต่างๆ จากพุทธประวัติ 37 ปาง กระทั่งกลายเป็นต้นแบบพระปางสมัยรัตนโกสินทร์สืบมาจนทุกวันนี้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ขณะทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงเป็นนักปราชญ์ทางภาษาบาลี ทั้งยังสนพระทัยในประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จึงมีพระนิพนธ์หลากหลาย อาทิ ตำราปักขคณนา สำหรับคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งใช้เป็นแบบในคณะธรรมยุตมาถึงปัจจุบัน, จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน ซึ่งทรงบันทึกจำนวนฝนที่ตกเป็นรายวัน ติดต่อกันถึง 45 ปี, ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงเป็นประธานในการชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงพระดำริสร้างยอดพระกริ่งในสยาม เรียกว่า “พระกริ่งปวเรศ” ที่กลายเป็นแบบอย่างพระกริ่งมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement
รัชกาลที่ 6 ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ผนวชเป็นพระภิกษุ และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9 ผนวชเป็นสามเณร ฉายร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2447
รัชกาลที่ 6 ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ผนวชเป็นพระภิกษุ และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9 ผนวชเป็นสามเณร ฉายร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2447

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา)

ทรงมีภูมิลำเนาที่บางไผ่ นนทบุรี ทรงได้เป็นเปรียญเอกตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณร โดยถือเป็นสามเณรรูปแรกที่ได้เปรียญ 9 ประโยคในกรุงรัตนโกสินทร์และเมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุก็สอบได้เปรียญ 9 ประโยคอีกครั้งจึงได้รับสมญานามว่า “สังฆราช 18 ประโยค” เนื่องจากเมื่อทรงรวบรวมพระสูตรและพระปริตรพิมพ์เป็น “หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง” พระราชทานพระอารามต่างๆ ดังที่รู้จักแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ทรงมีพระนิพนธ์มากมายกว่า 100 เรื่อง ทั้งงานแปลพระสูตร หนังสือเทศนา และเบ็ดเตล็ด

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่มีพระชนมายุ 8 พรรษา จนแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร ครั้นเมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ครั้งสำคัญ โดยชี้แจงแก่เสนาบดีกระทรวงธรรมการถึงผลเสียจากการที่คฤหัสถ์ปกครองคณะสงฆ์ดังที่เป็นมาในอดีต รัชกาลที่ 6 จึงทรงมอบกิจธุระทั้งปวงทรงพุทธศาสนาถวายแด่พระองค์ จึงทรงเป็นสังฆราชพระองค์แรกที่ได้ปกครองคณะสงฆ์โดยตรง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่พระสงฆ์ได้ปกครองกันเอง และเกิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม

พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อทรงผนวชขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ และในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ

ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญองค์หนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนิพนธ์มากมายที่ใช้เป็นคู่มือศึกษาของภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกามาถึงทุกวันนี้ อาทิ พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ทรงมีพระนามเดิมว่า ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ ทรงเป็นผู้ก่อตั้ง “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุติกนิกาย ทรงเป็นครูรุ่นแรกของโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย ทรงฟื้นฟูการออกนิตยสาร “ธรรมจักษุ” รายเดือน ได้รับการถวายเฉลิมพระสมณศักดิ์ “อภิชมหารัฏฐคุรุ” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดของพม่า จากรัฐบาลสหภาพพม่าเมื่อ พ.ศ.2500

07
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงฉาย เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ณ วัดสมุหประดิษฐ จ.สระบุรี พ.ศ.2457

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์)

ทรงเป็นชาวอำเภอนครหลวง พระนครศรีอยุธยา เป็นผู้มีดำริให้สังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ใน พ.ศ.2530 ทรงมีคุณูปการในการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานในวัดราชบพิธฯ สร้างอาคารเพื่อสาธารณสงเคราะห์ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) ที่บ้านเกิด พร้อมด้วยสถานสงเคราะห์คนชรา เป็นต้น ทั้งนี้ ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ในรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ.2521

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ)

ประสูติที่จังหวัดกาญจนบุรี พระชนนีและป้าชักชวนให้บวชเป็นสามเณรเพื่อแก้บนที่หายป่วย เนื่องจากวัยเด็กทรงมีพระวรกายอ่อนแอ จากนั้นได้ศึกษาพระธรรมจนเป็นพระภิกษุที่แตกฉาน เรียบเรียงพระนิพนธ์จำนวนมาก อาทิ วากยสัมพันธ์ ภาค 1-2 (หนังสืออธิบายบาลีไวยากรณ์) พระพุทธศาสนากับสังคมไทย หลักพระพุทธศาสนา ปัญจคุณ 5 กัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้อำนวยการในการจัดทำปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท ทรงริเริ่มให้แปลหนังสือพุทธศาสนาที่สำคัญเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อเผยแพร่และเป็นคู่มือแก่ชาวต่างชาติ ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์สุดท้ายในแผ่นดินรัชกาลที่ 9

กระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

หนังสือสุทธิของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
หนังสือสุทธิของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ลำดับพระนามสมเด็จพระสังฆราชจาก ร.1-ร.9

1.สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม (พ.ศ.2325-2337)

2.สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (พ.ศ.2337-2359)

3.สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (พ.ศ.2359-2362)

4.สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุราชรังสฤษฎิ์ (พ.ศ.2362-2365)

5.สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (พ.ศ.2365-2385)

6.สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบูรณะ (พ.ศ.2386-2392)

7.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (พ.ศ.2394-2396)

8.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2396-2435)

9.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (พ.ศ.2436-2442)

10.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2442-2464)

11.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธราชวรวิหาร (พ.ศ.2464-2480)

12.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม (พ.ศ.2481-2487)

13.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2488-2501)

14.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (พ.ศ.2501-2505)

15.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.2506-2508)

16.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร (พ.ศ.2508-2514)

17.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (พ.ศ.2515-2517)

18.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (พ.ศ.2517-2531)

19.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ) วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2532-2556)

ภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

-พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์ จัดพิมพ์โดย วัดบวรนิเวศวิหาร

-ดั่งทองชมพูนุท จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในอภิลักขิตสมัย 150 ปีนับแต่วันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 16 ธันวาคม 2552 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image