เผยลวดลาย ‘พระโกศทองคำลงยาประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ’ เทิดพระเกียรติสูงสุด ในหลวง ร.9

แบบและลวดลายพระโกศทองคำลงยาสีประดับรัตนชาติทรงพระบรมอัฐิ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ออกแบบโดยนายอำพล สัมมาวุฒธิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

การออกแบบพระโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนของพระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะนำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทครั้งนี้ ออกแบบโดย นายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) ของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างโดยมอบหมายให้กลุ่มงานช่างบุและช่างศิราภรณ์ กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง รูปทรงโดยทั่วไปของพระโกศองค์นี้ได้ศึกษาจากภาพถ่ายของพระโกศทรงพระบรมอัฐิอดีตบูรพมหากษัตริย์ไทยทั้งจากเอกสารหนังสือ ภาพจากสื่อสารสนเทศและแบบผลงานการออกแบบพระโกศพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งออกแบบโดย นายนิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์ ระดับทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม(ช่างศิลปะไทย) ของกรมศิลปากร ที่ได้ศึกษาจากผลงานอดีตบรมครูช่างศิลปกรรมไทย ศ.พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นแบบอย่าง โดยพระโกศพระบรมอัฐิ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ออกแบบเป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดองค์ยกเว้นส่วนยอดที่เป็นก้านของพุ่มข้าวบิณฑ์ และก้านของสุวรรณฉัตร ฉัตร 9 ชั้นจะเป็นทรงกลม ซึ่งลักษณะโดยรวมตามแบบอย่างของพระโกศพระบรมอัฐิและพระโกศพระอัฐิที่มีการสร้างสืบตามกันมาตามพระราชประเพณี

องค์ประกอบขององค์พระโกศประกอบด้วยส่วนต่างๆ จำนวน 5 ส่วนดังนี้
1.ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานสิงห์ซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงล่างสุดเป็นพื้นเรียบเหนือขึ้นมาเป็นแนวกระจังตาอ้อย ถัดขึ้นมาเป็นหน้ากระดานล่างประดับด้วยลายประจำยามก้ามปู มีไส้ลายประดับรัตนชาติพื้นลายลงยาสีแดง เหนือขึ้นมาเป็นลายแข้งสิงห์ ประดับด้วยกาบแข้งสิงห์ ปากสิงห์ พื้นลายลงยาสีแดงทำเป็นลายก้านขดใบเทศ ทั้ง 9 ด้าน เหนือลายแข้งสิงห์เป็นลายบัวหลังสิงห์ บนชั้นลวดตั้งกระจังตาอ้อยโดยรอบเหนือจากฐานสิงห์ประกอบด้วยฐานบัวเชิงบาตรซ้อนกัน 2 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยลายท้องไม้ทำลักษณะลายบัวเกสรลงยาสีแดงเขียวสลับกัน ถัดขึ้นมาเป็นลายบัวหงายรับหน้ากระดานบนซึ่งประดับด้วยลายลูกฟักก้ามปูลงยาพื้นสีแดงโดยดอกประจำยามถูกแทนด้วยลายดอกไม้ประดับรัตนชาติ บนหน้ากระดานมีชั้นลวดตั้งกระจังตาอ้อยโดยรอบเฉพาะหน้ากระดานชั้นบนบัวเชิงบาตรเพิ่มแนวกระจังเจิมอีกชั้นหลังแนวกระจังตาอ้อยเหนือชั้นบัวเชิงบาตรนี้ตั้งฐานบัวหงายที่ประกอบด้วย ลายท้องไม้า ลายกลีบบัวหลาย ลายเกสรบัว ประดับรัตนชาติ บนชั้นลวดตั้งกระจังตาอ้อยช้อนทับกระจังเจิมโดยรอบ ส่วนบนของฐานที่จะต่อเข้ากับองค์พระโกศ (เอวพระโกศ) จะมีพื้นที่สำหรับตั้งลาดดอกไม้เอว

2.ส่วนองค์พระโกศ เป็นลายกลีบบัวจงกล ตามแบบของพระโกศที่นิยมสร้างสรรค์สืบต่อกันมา กลีบบัวนี้ช้อนขึ้นไปหาปากพระโกศ จำนวน 4 ชั้น โดยกลีบบัวชั้นล่างสุดจัดให้กลีบประธานอยู่ตรงเหลี่ยมพระโกศกลีบแทรกอยู่ตรงกลางในชั้นต่อขึ้นไปจะสลับกันโดยนำกลีบประธานมาไว้ตรงกลางทำสลับเช่นนี้ขึ้นไปทุกชั้น ชั้นบนสุดจึงมีกลีบประธานอยู่ตรงกลางด้านและกลีบแทงอยู่ตรงมุมเหลี่ยม กลีบบัวจงกลมีกรอบรอบนอกทำเป็นลวดลายอย่างลายน่องสิงห์ใบเทศ ที่ส่วนหน้ากระดานบนจะวางแนวห่วงสำหรับประกอบลายเฟื่องอุบะอยู่มุมของเหลี่ยม ต่อขึ้นไปขององค์พระโกศเป็นลิ้นปากของพระโกศพื้นเรียบ

Advertisement

3.ส่วนฝาพระโกศ ทำเป็นทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทองเรียงลำดับขึ้นไป ชั้นที่ 1, 2 และ 3 ทำเป็นลายประจำยามก้ามปู โดยดอกประจำยามถูกแทนที่ด้วยลายดอกไม้ประดับรัตนชาติ พื้นลายลงยาสีแดง
– เหนือเกี้ยวชั้นที่ 1 เป็นแนวลวดตั้งกระจังตาอ้อย ด้านบนเป็นบัวถลาฝาพระโกศ แนวลวดบนตั้งกระจังตาอ้อยเช่นกัน หลังกระจังตาอ้อยชั้นนี้จะติดตั้งดอกไม้ไหวชั้นที่ 1 ต่อขึ้นมาจะตั้งชั้นบัวหงายช้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นเป็นชั้นช้อนที่ประกอบด้วยลายท้องไม้ทำลักษณะลายบัวเกสรยาสีแดงเขียวสลับกัน ขึ้นไปเป็นชั้นบัวหงายเล็กช้อนอีกหนึ่งชั้นปากชั้นบัวหงายมีแนวลวดที่ตั้งกระจังตาอ้อยขนาดลดหลั่นกันเล็กขึ้นไปหาใหญ่ล้อมรอบฝาทั้ง 3 ชั้น บัวหงายชุดที่ 1 หลังกระจังตาอ้อยใหญ่ชั้นนี้จะติดตั้งดอกไม้ไหวชั้นที่ 2
– เหนือชั้นบัวหงายทั้ง 3 ชั้น เป็นท้องไม้ประดับลายบัวเกสรรับเกี้ยวชั้นที่ 2 เหนือเกี้ยวมีลวดตั้งแนวกระจังตาอ้อย เหนือขึ้นมาตั้งชั้นบัวมีกระจังตาอ้อยใหญ่หนึ่งชั้นหลังกระจังตาอ้อยจะติดตั้งดอกไม้ไหวชั้นที่ 3 ต่อขึ้นมาตั้งชั้นบัวหงายช้อนกัน 2 ชั้น ตั้งแนวกระจังตาอ้อยลดหลั่นกันเล็กขึ้นไปหาขนาดใหญ่
-เหนือขึ้นไปเป็นท้องไม้ประดับลายบัวเกสรรับเกี้ยวชั้นที่ 3 เหนือเกี้ยวมีลวดตั้งแนวกระจังตาอ้อย ต่อมาตั้งชั้นบัวหงาย 1 ชั้นตั้งแนวกระจังตาอ้อย หลังกระจังตาอ้อยจะติดตั้งดอกไม้ไหวชั้นที่ 4
– เหนือขึ้นมาตั้งบัวแวงรองรับเกี้ยวชั้นที่ 4 ที่มีแนวลวดตั้งกระจังตาอ้อย
– ส่วนบนเหนือขึ้นมาเป็นชั้นบัวหงายรองรับปลียอด 3 ชั้น จนถึงชั้นสุดของฝาคือปลียอดซึ่งจะประดับด้วยพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ สุวรรณฉัตรแล้วแต่กรณีการใช้งาน
4.ส่วนยอดพระโกศ สร้างเป็นสองแบบ ได้แก่ สร้างเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับรัตนชาติ และแบบที่สองสร้างเป็นสุวรรณฉัตร คือ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับรัตนชาติ

5.เครื่องประดับพระโกศ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ ประดับด้วยรัตนชาติ ประกอบด้วย
-ดอกไม้เอว ทำเป็นช่อดอกประกอบใบเทศ ปักอยู่หลังชั้นกระจังขอบเอวพระโกศบริเวณมุมของเหลี่ยม 9 ช่อ และตรงกลางแต่ละด้าน 9 ช่อ ในแนวระนาบเดียวกันรวม 18 ช่อ
– ดอกไม้ไหว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าดอกไม้เพชร ปักเหนือชั้นกระจังเหนือบัวถลาบริเวณมุมของเหลี่ยม 9 ช่อ และตรงกลางแต่ละด้าน 9 ช่อ รวม 18 ช่อ และเหนือกระจังชั้นเกี้ยวอีก 3 ชั้น บริเวณมุมของเหลี่ยม ชั้นละ 9 ช่อ รวม 27 ช่อ รวมทั้งสิ้น 45 ช่อ มีรูปลักษณะเช่นเดียวกับดอกไม้เอวแต่จะมีขนาดใหญ่ เล็กลดหลั่นกัน
– เฟื่องอุบะ สร้างเป็นดอกเรียงร้อยต่อกันตามแนวนอน โดยปล่อยให้ดอกกลางห้อยหย่อนลงอย่างเชือกตกท้องช้าง จากส่วนปลายแต่ละข้างที่มีขนาดดอกเล็กแล้วค่อยๆ ใหญ่ขึ้นจนดอกกลางมีขนาดใหญ่สุด เรียงช่วงละ 11 ดอก มี 9 เฟื่อง ตรงช่วงต่อของเฟื่องแต่ละแถวห้อยอุบะมีลักษณะคล้ายพวงดอกมะลิตูมจับกลุ่มเป็นทรงดอกบัวตูมทิ้งยอดลงมีดอกรักครอบทับเป็นชั้นเรียงขนาดเล็กลงมาหาใหญ่ ทั้งหมด มี 9 ชุด
-ดอกไม้ทิศ สร้างเป็นดอกประจำมุมเหลี่ยม แลประดับประจำด้านของเกี้ยวมาลัยทองฝาพระโกศชั้นล่าง จำนวน 18 ดอก ประดับเฉพาะประจำมุมเหลี่ยมของเกี้ยวชั้นที่ 2 และ 3 ชั้นละ 9 ดอก รวม 18 ดอก และประดับประจำด้านของเกี้ยวชั้น 4 จำนวน 9 ดอก รวมทั้งสิ้น 45 ดอก จะมีขนาดใหญ่ เล็กลดหลั่นกันตามความเหมาะสมของชั้นเกี้ยว

โดยสรุปลักษณะโดยรวมของพระโกศพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นพระโกศทรงเก้าเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎ จัดสร้างด้วยทองคำลงยาสี ประดับรัตนชาติ ยกเว้นส่วนประกอบอื่น ได้แก่ พุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระโกศดอกไม้เอว ดอกไม้ไหว และเฟื่องอุบะ ตามจำนวนที่กล่าวชั้นต้นที่สร้างด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับด้วยรัตนชาติ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับรัตนชาติ สำหรับเปลี่ยนแทนยอดพุ่มข้าวบิณฑ์เมื่ออัญเชิญออกประดิษฐานในพระราชพิธี และมีพระโกศศิลาขาวที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนวล สำหรับทรงพระบรมอัฐิอยู่ภายในพระโกศทององค์นี้ ขนาดของพระโกศ ฐานกว้าง 20 เซนติเมตร หากวัดจากฐานถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์สูง 80 เซนติเมตร เมื่อวัดจากฐานถึงยอดพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สูง 99 เซนติเมตร

Advertisement

รัตนชาติที่ใช้ประดับพระโกศและส่วนประกอบต่างๆ เป็นเพชรเจียระไนสีขาวทั้งสิ้น ประกอบด้วยขนาด 0.5 มิลลิเมตร จำนวน 36 เม็ด ขนาด 0.8 มิลลิเมตร จำนวน 325 เม็ด ขนาด 1.0 มิลลิเมตร จำนวน 98 เม็ด ขนาด 1.3 มิลลิเมตร จำนวน 2,721 เม็ด ขนาด 1.5 มิลลิเมตร จำนวน 723 เม็ด ขนาด 1.8 มิลลิเมตร จำนวน 243 เม็ด ขนาด 2.0 มิลลิเมตร จำนวน 304 เม็ด ขนาด 2.5 มิลลิเมตร จำนวน 882 เม็ดและขนาด 3.0 มิลลิเมตร จำนวน 36 เม็ด รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด ส่วนยาสีที่ใช้ตกแต่งพระโกศเป็นประเภทยาสีร้อน มีสามสี ได้แก่ สีเหลือง สีแดง และสีเขียว

สีเหลือง หมายถึง สีประจำวันพระราชสมภพ
สีแดง หมายถึง สีแห่งพลัง ความเข้มแข็ง การหลอมรวมดวงใจของคนในชาติ
สีเขียว หมายถึง สีแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งประเทศด้วยพระเมตตาบารมีแด่ปวงประชาชนทุกภาคส่วน

นอกจากพระโกศทองลงยาและพระโกศศิลาแล้ว ยังมีเครื่องประกอบที่เกี่ยวเนื่องอีก 2 ชิ้น ได้แก่ แป้นกลึงแกะสลักลงรักปิดทอง จำนวน 1 ชิ้น สำหรับรองรับฝาพระโกศ และฐานไม้กลึงแกะสลักลงรักปิดทองจำนวน 1 ชิ้น สำหรับรองรับยอดพระโกศที่เป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือที่ป็นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image