อาจารย์มหิดล รุดชม ‘โกลเด้นบอย’ อัศจรรย์ใจกะไหล่ทองพันปี ขอบคุณเดอะเมทส่งคืน ยกเป็น ‘ความงามทางมนุษยธรรม’

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สืบเนื่องกรณี รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รับมอบมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ 1. ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy และ 2.ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด กรมศิลปากร ได้เชิญชวนประชาชน ชมความงามของ ‘โกลเด้นบอย’ และ ประติมากรรมสตรีพนมมือ ได้ที่ห้องศิลปะลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไป


สำหรับบรรยากาศ การเข้าชมวันแรกหลังจากนำประติมากรรมทั้ง 2 รายการเคลื่อนย้ายจากพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ไปจัดแสดง ที่ ชั้น 2 ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามารับชมประติมากรรมทั้ง2กันอย่างหนาแน่น โดย โกลเด้นบอย หรือประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy จัดแสดงอยู่บริเวณกลางห้อง และ ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จัดแสดงอยู่บริเวณขวามือของห้อง บางส่วนได้ถ่ายรูปคู่กับประติมากรรมทั้ง2 โดยทางกรมศิลปากรอนุญาตให้สามารถเก็บภาพนิ่งได้รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เข้าชม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ติดตามข่าวของโกลเด้นบอยมาตลอด ส่วนตัวสนใจในโบราณคดีและศิลปวัตถุในทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว เมื่อว่าโกลเด้นบอยเป็นโบราณวัตถุที่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ทำให้มีความรู้สึกว่ามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทาง ความคิด ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม จึงติดตามเรื่องนี้มาตลอด

“มารับชมในวันแรกเลยเพราะมีความสนใจอยู่แล้ว ผมเคยมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครแล้วหลายครั้ง ซึ่งครั้งนี้อยากมาที่ห้องลพบุรีเป็นอันดับแรกเพื่อที่จะได้มาเห็นกับตา โดยเฉพาะงานกะไหล่ทองยุค 900-1000 ปีที่แล้ว รู้สึกมหัศจรรย์มากที่การกะไหล่ทองเป็นเทคโนโลยีเมื่อเกือบ 1,000 ปีที่แล้วที่สามารถคิดค้นการใช้ทองจำนวนไม่มากมาติดบนเนื้อโลหะได้ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ และร่องรอยของการกะไหล่ทองบนตัวโกลเด้นบอยมีความคลาสสิกมาก ทั้งการจัดวาง การแสดงออกของความรู้สึก อารมณ์ที่อยู่บนใบหน้า ที่มีความเหมือนจริงมาก ดูแล้วรู้สึกว่ามีชีวิต จากการทำองค์ประกอบบนใบหน้า สัดส่วนที่อยู่บนใบหน้า ผมคิดว่าศิลปโบราณวัตถุในยุคใดๆ ความงามหนึ่งที่ทำได้ยาก แม้ในยุคหลังๆเองก็อาจไม่สามารถทำได้เหมือนในยุคก่อนๆ คือ ความสมส่วน ทั้งความสูง ความกว้าง ความลึก มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่คนยุคนั้นทำได้ละเอียดงดงามแบบนี้“ รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวต่อว่า การที่ได้มาเห็นของจริงทำให้เห็นว่าองค์ประกอบหรือเครื่องประดับต่างๆ มีรายละเอียดต่างๆ อย่างไร เช่น ลักษณะของผ้านุ่งที่มีการใช้เป็นผ้านุ่งแบบจับจีบ เครื่องประดับเมื่อ 1,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่ามีทั้ง พาหุรัดที่ต้นแขน กำไลต่างๆ ซึ่งล้วนสืบทอดมาเป็นเครื่องประดับในปัจจุบัน

Advertisement

“อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือสรีระความงามของภูมิภาคนี้ ซึ่งรูปกษัตริย์จะต้องถ่ายทอดความงดงาม และสิ่งที่เราได้เห็นคือความงามแบบเอเชียอาคเนย์ จะแตกต่างจากความงามของยุโรปที่จะต้องมีกล้ามเนื้อ ซึ่งคิดว่ามีอีกหลายอย่างที่จะต้องทำให้กลับมาดูอีกหลายครั้งอย่างแน่นอน” รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าว

รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวต่อว่า อยากจะขอบคุณทางสหรัฐอเมริกาที่มีความใจกว้างอยากจะให้ศิลปโบราณวัตถุได้กลับมาอยู่ในพื้นที่ถิ่นกำเนิด ซึ่งถือเป็นความงามทางมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก และถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนไทยที่เมื่อได้ค้นพบอะไรที่มีคุณค่าแบบนี้จะทำอย่างไรให้มันคงอยู่เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image